ทบทวน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ – โทษประหารกลับมาเป็นประเด็นโหมกระพืออย่างเข้มข้น เมื่อเกิดคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญ เป็นฆาตกรรมต่อเนื่อง โดยนายสมคิด พุ่มพวง ผู้เคยก่อคดีร้ายแรงมาก่อนในปี 2548 และออกจากคุกมาทำผิดซ้ำอีกกับเหยื่อรายที่ 6

การกระทำผิดซ้ำเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในสังคมโกรธแค้น มีกลุ่มประชาชนไปรุมสาปแช่งและพยายามทำร้ายผู้ก่อเหตุรายนี้อย่างมีอารมณ์

หลายคนเห็นว่าผู้ก่อเหตุไม่ควรได้ออกมาจากเรือนจำแต่แรก และเรียกร้องให้ทบทวนกระบวนการปล่อยนักโทษ

เช่นเดียวกับญาติและครอบครัวเหยื่อผู้ถูกกระทำหลายคนต่างต้องการให้ผู้ต้องหาที่ก่อเหตุได้รับโทษสูงสุดคือประหารชีวิต

อาจเพราะการประหารชีวิตถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นการชดใช้กรรมระดับสูงสุด

การรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์นี้และหลายๆ เหตุการณ์ที่อารมณ์ของคนในสังคมกำลังขึ้นสูง

เพราะนอกจากจะถูกต่อต้านกลับอย่างแรงแล้ว อาจลุกลามทำให้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ถูกโจมตีแบบเหมารวมไปด้วย

ประเทศไทยมีนักโทษประหารอยู่เกิน 500 คน แต่ไม่มีการปฏิบัติจริงติดต่อมา 9 ปี กระทั่งปี 2561 มีการประหารนักโทษชายอายุ 26 ปี

กรณีนายสมคิด พุ่มพวง ไม่ต้องโทษประหารเพราะให้ความร่วมมือแก่การสอบสวน จึงลดเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต จากนั้นจึงได้รับการลดโทษลงเมื่อมีความประพฤติดีในเรือนจำ

จุดที่ทำให้เกิดปัญหาอยู่ตรงนี้

เมื่อรู้ถึงที่มาของปัญหาแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องเปิดสถิติข้อมูลนักโทษกลุ่มนี้ที่พ้นทษออกมาแล้วก่อคดีซ้ำกับที่ไม่ก่อคดีซ้ำ เพราะเป็นส่วนสำคัญสำหรับการทบทวนกระบวนการดังกล่าว

ข้อเสนอให้การทบทวนกระบวนการปล่อยนักโทษคดีร้ายแรงแต่ประพฤติดี มีทั้งการติดอุปกรณ์ ติดตามความประพฤติ ฯลฯ ตามที่มีตัวอย่างในต่างประเทศ

แม้จะไม่อาจรับประกันความปลอดภัยในกระบวนการได้ทั้งหมด แต่เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐต้องหาทางเร่งปรับปรุง อุดช่องโหว่ของระบบที่ยังบกพร่อง

เพื่อแสดงให้คนในสังคมร่วมกันแก้ปัญหาโดยอาศัยข้อมูล ตัดสินอย่างใคร่ครวญและรอบคอบ ด้วยจิตใจที่มีวุฒิภาวะเหนือกว่าผู้ก่อเหตุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน