พร็อกซี : บทบรรณาธิการ

เมื่อผู้นำกองทัพแสดงความเห็นทางการเมือง ด้วยมุมมองซับซ้อนเชิงการทหาร ว่าด้วย Proxy Crisis จึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง

เพราะการแสดงความเห็นแม้เป็นความเห็นส่วนบุคคล แต่ตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ก่อให้เกิดคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่

เหมือนกับกรณีเร็วๆ นี้ที่มีคู่รักเพศเดียวกัน จูบกันในอาคารรัฐสภาเพื่อเป็นสัญลักษณ์สนับสนุน ความหลากหลายทางเพศ ตกเป็นที่วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่

สิทธิในการแสดงออกกับความเหมาะสม มักเป็นเรื่องที่บุคคลสาธารณะต้องใคร่ครวญให้ดี ทั้งเวลา สถานที่ และตำแหน่งหน้าที่

เนื้อหาที่ผู้นำกองทัพเอ่ยถึงล่าสุด เป็นความเห็นที่เริ่มมีกลุ่มประชาชนออกมาแสดงกิจกรรมทางการเมือง ว่าเป็น พร็อกซี ไครซิส หรือวิกฤตตัวแทน

พร้อมคำอธิบายว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่มีคนบางคนอยู่เบื้องหลังไม่ออกมาสู้ เพราะไม่สามารถต่อสู้กับภาครัฐได้โดยตรง จึงต้องสร้างตัวแทน เหมือนกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้

ก่อนสรุปในตอนท้ายว่า ปัญหาของประเทศไทยเกิดจากคนที่ไม่ยอมรับในเรื่องของกฎหมาย ทั้งที่นานาประเทศล้วนแล้วแต่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ความเห็นดังกล่าวเหมือนจะผ่านการศึกษาเปรียบเทียบมาแล้ว แต่ชัดเจนว่ารวบรัดตัดตอนสำคัญออกไป

กฎหมายที่คนในประเทศประชาธิปไตยเคารพ ล้วนมาจากการมีส่วนร่วมและเป็นฉันทามติของประชาชน ตั้งแต่เริ่มต้น

ไม่ใช่กฎหมายที่เขียนขึ้นในห้วงเวลา รัฐประหาร ปิดกั้น เลือกปฏิบัติ และใช้กฎหมายนั้นเองเป็นเครื่องมือชิงความได้เปรียบ กำหนดความถูกต้องโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะผ่านประชามติจนบังคับใช้ได้ แต่ทุกคนล้วนทราบที่มาที่ไปอันมีข้อจำกัดในช่วงเวลาไม่ปกติและไม่มีทางเลือก สำหรับการหาทางออก

กระทั่งรับรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไข เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องแนวทางประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีตัวแทนจากประชาชนร่วมเขียน ชี้แนะ และแก้ไขกฎหมายให้ลุล่วง

หากเปิดกว้างกระบวนการนี้ให้ประชาชน มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ย่อมไม่เกิด พร็อกซี ไครซิส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน