คอลัมน์ รายงานพิเศษ

การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนกลายเป็นประเด็นร้อนของรัฐบาล หลังครม.มีมติแล้วแต่ไม่มีการแถลงหรือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ ทั้งที่เป็นวงเงิน นับหมื่นล้านบาท

แม้รัฐบาลจะชี้แจงว่าเป็นการใช้งบประมาณของกองทัพเรือจัดซื้อ ไม่ใช่งบกลาง แต่สังคม กลับยิ่งตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการใช้เงินภาษีประชาชน

และความเหมาะสมของการจัดซื้อในขณะที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

โดยทั่วไปการประชุมครม. ประชาชนไม่ได้ให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่รัฐบาลจะบอกว่าเป็นแค่เรื่องพิจารณาเรื่องหนึ่งก็คงไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องของงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส ให้ประชาชนได้รู้ก่อนจะมีการพิจารณาด้วยซ้ำเพื่อฟังเสียงคนรอบด้าน

รัฐจึงต้องจัดลำดับความสำคัญเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะเท่าที่ติดตามขณะนี้นำงบไปใช้มากเรื่องความมั่นคง การป้องกันประเทศ ทั้งที่เราก็ไม่ได้อยู่ในความสุ่มเสี่ยงในการทำสงคราม จึงควรเปิดเผยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณได้ หากไม่เปิดเผยก็จะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลเอง

ส่วนเรื่องชั้นความลับก็เข้าใจว่าอะไรที่เป็นนโยบายความมั่นคง แต่เรื่องของการเจรจาซื้อขายสินค้ามูลค่าขนาดนี้ สัญญาส่วนหนึ่งน่าจะเปิดเผยได้ในระดับหนึ่ง เพราะประชาชนจ่ายภาษี ไม่ใช่อยู่ๆ เงินทั้งก้อนจะหายไปหมด

ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้คำว่าชั้นความลับมากเกินไป เราต้องแบ่งชั้นความลับกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการให้ชัดเจน อะไรที่เป็นเรื่องของตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณ และเป็นผลประโยชน์ที่เป็นผลดีต่อประชาชนในประเทศก็น่าจะเป็นเรื่อง ที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้

ยกตัวอย่างแม้แต่การใช้จ่ายงบประมาณด้านต่างประเทศของสหรัฐถึงจะมีเรื่องของความลับมาก แต่เขาก็พยายามเปิดเผยการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือประเทศต่างๆ บางกรณีสามารถตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ให้สาธารณะตรวจสอบได้ในระดับหนึ่ง

ที่อยากตั้งคำถามคือ กลุ่มคนที่เคยตั้งคำถามเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เหตุใดกับรัฐบาลนี้จึงปล่อยผ่าน ไม่ออกมาตั้งข้อสังเกตหรือเรียกร้องใดๆ

ที่บอกว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำใช้งบประมาณของกองทัพเรือ คงไม่ใช่เหตุผล เพราะก็มาจากงบประมาณแผ่นดิน ถ้ากองทัพเรือมีรายได้เพิ่มเติมเองก็คงไม่เป็นไร ต้องตอบด้วยว่ากองทัพเรือได้งบประมาณมาจากไหนหากเป็นงบแผ่นดิน ประชาชนต้องตรวจสอบการใช้เงินภาษีได้ การให้เหตุผลแบบนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนประเด็นไปเรื่อย

เรื่องนี้ถูกวิจารณ์มากเพราะเป็นการจัดซื้อท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี แต่ส่วนตัว คิดว่าถึงไม่มองเรื่องเศรษฐกิจก็ไม่เหมาะสม เราไม่จำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ เพราะยังไม่มีความพร้อมเรื่องคุณภาพพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา และการสาธารณสุข

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือต้องทบทวนเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ก็เชื่ออีกว่าคงไม่ทบทวน

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

อดีตเลขาธิการ สมช.

เหตุผลในแง่ความจำเป็น ต่อการรับมือภัยคุกคามทาง ทะเลของไทย มันชัดเจนว่า ไม่มี ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ตั้งไม่อยู่ในจุดที่ต้องเผชิญวิกฤตทางทะเลเหมือนเวียดนาม ที่ตึงเครียดต่อสถานการณ์ทะเล จีนใต้ ข้ออ้างเพื่อนบ้านมีแล้วต้องมีจึงฟังไม่ขึ้น ยิ่งประเมินสถานการณ์ระยะกลางถึงสั้นแล้วก็ไม่พบความจำเป็น

เทียบภัยคุกคามที่ไทยเสี่ยงเผชิญคือการก่อร้ายมากกว่า มาตรการรับมือจะเน้นที่หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจขนาดเล็ก เคลื่อนที่เร็วเป็นหลัก ไม่ใช่ยุทธภัณฑ์เหมือนสงครามตามแบบ เรือดำน้ำจำเป็นสำหรับทะเลฝั่งอันดามันแต่ถ้า อ่าวไทยเลิกพูดถึงได้เลย และหากดูตามยุทธศาสตร์ เราเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพเพื่อนบ้าน หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเรือดำน้ำก็ไม่มีความจำเป็น

สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ กองทัพเรือยอมรับเงื่อนไขการพัฒนาขีดความสามารถด้วยการซื้อเรือดำน้ำเก่าจากเยอรมนี 3 ลำ เพียงพอต่อความต้องการทุกมิติ วงเงิน 6-7 พันล้านบาท แต่ถึงรัฐบาลปัจจุบันเงื่อนไขกลับขยับขึ้นมาอยู่ที่เรือดำน้ำใหม่จากจีน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท

ทว่าความชัดเจนจากทั้งรัฐบาลและกองทัพเรือต่อกรณีนี้ยังคลุมเครือ แถลงคือซื้อ 1 ลำ วงเงิน 1.3 หมื่นล้าน แต่การให้ข่าวที่ผ่านมายังสร้างความสับสน มีทั้งซื้อแบบ 3 ลำ แบบ 2 แถม 1 วงเงิน 3.6 หมื่นล้าน

ล่าสุดบอกลำเดียว ลำสองลำสามจะเอาหรือไม่ขึ้นกับรัฐบาลต่อไป ความชัดเจน บนเงื่อนไขของทีโออาร์วางกรอบไว้อย่างไร มีข้อผูกมัดผูกพันหรือไม่ ไม่มีใครทราบ

หากมองความคุ้มค่าในแง่คุณลักษณะ จากข้อมูลบอกว่าเรือรุ่นนี้ จีนกำลังพัฒนาไว้ใช้สำหรับกองทัพตัวเองและขายให้ชาติอื่นด้วย ซึ่งยังไม่มีใครเห็นขีดความสามารถของจริง หากการพัฒนาของจีนเกิดสะดุดหรือมีปัญหา เงื่อนไขที่เราตกลงไปแล้วจะทำอย่างไร

การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องยาก จำนวนวงเงิน พร้อมเหตุผลประกอบก็เพียงพอต่อการทำความเข้าใจของคนในสังคม ไม่ต้องลงรายละเอียดเทคนิคของเรือดำน้ำ เวลาที่ยังเหลือก่อนเซ็นสัญญา จำเป็นต้องให้ข้อมูลข้อเท็จจริง

หากเป็นไปได้ควรชะลอทบทวนการอนุมัติ เพื่อความเหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำจะดีกว่า

กิตติ ลิ่มสกุล

เศรษฐศาสตร์ ม.ไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น

ไม่รู้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณต้องต่อเนื่องอย่างไรเพราะยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์การจัดเก็บภาษีของแต่ละประเทศจะเป็นตัวบ่งบอกว่าการใช้เงินงบประมาณควรนำไปใช้ในทางไหน

การเลือกระหว่างอาวุธกับอาหารก็ต้องดูงบประมาณรายรับที่ได้จากการจัดเก็บภาษี หากไม่มีเงินไม่เพียงพอเราก็ต้องเลือกใช้ภาษีซื้ออาหาร ไม่ใช่อาวุธเพราะมันกินไม่ได้

การตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำเช่นนี้แสดงว่ามันคือตัวเลือกในใจรัฐบาลที่เห็นว่าศัตรูนอกประเทศสำคัญกว่าเรื่องภายในประเทศ จึงทำให้สังคมเกิดความสงสัยเพราะไม่เห็นว่าไทยจะมีอริราชศัตรูที่ไหน

ส่วนตัวเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการใช้เรือดำน้ำมาดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเพาะ (EEZ) 200 ไมล์ทะเล โดยเฉพาะ ส่วนอ่าวไทย และหัวเมืองการค้าสำคัญของอานาจักรในอดีต ที่มีการสำรวจพบเครื่องสังคโลกจำนวนมากอยู่ก้นทะเล ที่เกิดจากเรืออัปปางในยุคสมัยนั้น

ประกอบกับการผิดหวังมาโดยตลอด ของ กองทัพเรือ ที่ขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเป็นรองกองทัพบกและกองทัพอากาศ ไม่มีโอกาสจัดหายุทโธปกรณ์เหมือนกองทัพอื่น

ไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำเนื่องจากไม่จำเป็นหากเทียบกับปัญหาปากท้อง จังหวะเวลาไม่เหมาะสม ประกอบกับการไม่ยอมเปิดเผยทั้งที่จริงแล้วเรือดำน้ำไม่ใช่เรื่องเสียหาย ทั้งยังมีประโยชน์

แต่เมื่อรัฐบาลเลยตามเลยมาแล้วจะชะลอไว้ก็จะเป็นการ เสียหน้าในเวทีระหว่างประเทศ จึงเสนอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการต่อรองประเทศจีนในแง่มุมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายที่รัฐบาลเองเป็นผู้วางไว้ โดยเฉพาะแนวทางที่จะปรับให้ต่างประเทศสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 99 ปี แล้วเน้นไปที่การลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วมีศักยภาพ

เน้นไปที่ ABBI กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ของจีนที่จะใช้ในการลงทุนต่างประเทศ รัฐบาลควรนำความเชื่อมโยงเหล่านี้ไปต่อรองกระตุ้นให้จีนนำเงินมาลงทุน

โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่จะทำให้คนไทยได้ประโยชน์ ตามพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งจะทำให้ไทยอยู่ในฐานะจุดเชื่อมต่อ ทำให้อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS ได้รับประโยชน์

ส่วนคำอธิบายในแง่ความมั่นคงควรอธิบายในมุมที่เรือดำน้ำจะใช้เกื้อหนุนส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล กับประเทศเพื่อนบ้านกับกัมพูชาทางอ่าวไทย และพม่าทางอันดามัน เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน