จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ การร่วมรัฐบาล-ทิศทางปชป.ปี63 : สัมภาษณ์พิเศษ

คดีความทางการเมือง การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่

การเดินหน้าของรัฐบาลในปี 2563 นี้ จะติดขัดเรื่องใดบ้าง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มองสถานการณ์รัฐบาลอย่างไร รวมถึงการขับเคลื่อนปชป.ไปข้างหน้า

มองสถานการณ์การเมืองปี 2563 อย่างไร

ยังไม่คิดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากในระบบรัฐสภาปกติ เพราะรัฐบาลก็ยังเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและต่อเนื่องข้ามปี ส่วนเสียงในสภาคิดว่าไม่น่าจะน้อยกว่าเดิม ฉะนั้นโดยภาพรวมเมื่อสามารถ ผ่านพ้นปี 2562 มาได้ ก็คิดว่าปี 2563 ยังน่าจะเดินหน้าต่อไปได้

แม้เสถียรภาพของรัฐบาลในระบบรัฐสภาจะขึ้นอยู่กับปริมาณเสียงในสภา แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่จะเกื้อหนุนให้รัฐบาลทำงานต่อได้ด้วย นั่นก็คือ การสร้างผลงานของรัฐบาลให้ปรากฏเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับของประชาชน

ถ้าดูจากการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้จะพบว่าองค์กรสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจระดับโลกยังคาดการณ์ไปในทางบวกอยู่ เชื่อว่าภายใต้มาตรการหลายๆ อย่างที่รัฐบาลชุดนี้จะนำมาใช้ต่อในปีนี้น่าจะพาเศรษฐกิจก้าวหน้าต่อไปได้ ตรงนี้จะมาช่วยเกื้อหนุนเสถียรภาพของรัฐบาลในการสร้างผลงานให้ปรากฏต่อไป

เสถียรภาพการร่วมรัฐบาลจะเป็นอย่างไรเนื่องจากมีหลายพรรค

เป็นธรรมดา เพราะถ้าไม่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวก็ต้องเป็นรัฐบาลผสม เพียงแต่รัฐบาลนี้ผสมพรรคมากหน่อย ก็ต้องใช้ศิลปะในการบริหารจัดการรัฐบาลผสม ซึ่งมีศาสตร์และศิลป์ของมันอยู่

ปี 2563 นี้จะมีการเปลี่ยนหรือพลิกขั้วการเมืองหรือไม่ และที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าปชป.จะถูกปรับออก

เท่าที่ผ่านมายังไม่คิดว่าการพลิกขั้วจะทำได้ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับแนวคิดตั้งแต่เริ่มรวมขั้วกัน ถ้าจะเปลี่ยนขั้วต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองขณะนั้นด้วยว่ามีสถานการณ์ที่บีบรัด หรือบีบบังคับมากน้อยแค่ไหนที่ต้องทำอย่างนั้น และต้องมีคำอธิบายในทางการเมืองด้วย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับได้

ถ้าปชป.ถูกบีบออกจากรัฐบาล ยอมรับได้หรือไม่

เรามีหลักในการตัดสินใจทางการเมือง พรรคเคยเป็นทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้านมาหลายสมัย เป็นมาเกือบทุกจะรูปแบบ และทุกครั้ง เมื่อจะมีการตัดสินใจก็จะมีหลักและรวบรวมความเห็นโดยรอบด้าน

แม้แต่การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ก็ต้องฟังความเห็นจากสมาชิกพรรคทุกฝ่าย เพราะทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบต่ออนาคตของพรรค และต้องฟังความเห็นของกรรมการบริหาร และส.ส.ของพรรคด้วย เกณฑ์การตัดสินใจของพรรคจึงมีอยู่

ดังนั้น ไม่ว่าจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ในอนาคตคิดว่าไม่ยากสำหรับประชาธิปัตย์ เราพร้อมจะตัดสินใจ และมาถึงวันนี้ ไม่คิดและยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะมีการบีบหรือไม่บีบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะการเข้าร่วมรัฐบาลไม่ใช่อยู่ๆ เราเดินไปขอเข้าร่วม แต่เกิดจากพรรคพลังประชารัฐมาเชิญ จากนั้นเราก็มาพิจารณา นี่คือข้อเท็จจริง

เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลก็มีเงื่อนไข ซึ่งประกาศชัดเจน 3 ข้อ 1.นำนโยบายประกันรายได้เข้าไปเป็นนโยบายของรัฐบาล 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และ 3.การบริหารราชการแผ่นดินต้องทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งรัฐบาลก็ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาธิปัตย์

การปรับครม.ในส่วนของพรรค นายกฯมีสิทธิ์เข้ามาก้าวก่ายหรือไม่

เท่าที่เคยมีการปฏิบัติมาในรัฐบาลผสม ถ้านายกฯประสงค์จะปรับครม.ก็แจ้งให้พรรคทราบ อาจแจ้งหัวหน้าพรรคหรือเลขาฯพรรคก็สุดแล้วแต่ และพรรคก็ต้องคุยกันว่าพรรคควรปรับรัฐมนตรีหรือไม่มีการปรับ หรือถ้าจะปรับจะปรับอย่างไร ก็แจ้งให้นายกฯ ทราบ

มีแนวโน้มจะปรับครม.ของพรรคหรือไม่

ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จะปรับครม.เวลานี้ ส่วนอนาคตตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย การปรับครม.เป็นทั้งเรื่องการทำงาน การทำหน้าที่และเป็นเรื่องทางการเมืองด้วย ซึ่งเมื่อเป็นการเมืองก็อาจมีความอ่อนไหวในตัวของมันเอง ต้องดูว่ามีสถานการณ์จำเป็นมากน้อยแค่ไหน

รัฐมนตรีของพรรคก็เร่งทำงานอย่างเต็มที่ เพราะเราไม่ได้มีเวลามาก ยาวสุดก็ไม่เกิน 4 ปี ดังนั้นทุกคนมีหน้าที่ต้องเร่งผลงานให้ปรากฏและต้องไม่ให้เสียชื่อพรรคด้วย ที่ผ่านมาโดยภาพรวมผลงานก็ถือว่าไปได้ แต่สุดท้ายประชาชนต้องให้คำตอบ

ผลงานที่จะออกมาในปีนี้

ยังมีอีกเยอะที่ได้เตรียมไว้ เช่นนโยบายประกันรายได้เกษตรกร จะเดินหน้าต่อและต้องมีมาตรการอื่นๆ เสริมเข้ามาที่จะคู่ขนานไปกับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรในข้าว มัน ปาล์ม ยาง ข้าวโพด และพืชผลเกษตรตัวอื่นด้วยที่เราจะต้องเข้าไปดูแล

ส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ปีนี้จะเป็นปีเริ่มต้นนโยบายเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารหิ้วผลไม้ไทยขึ้นเครื่องบินไปยังต่างประเทศได้ฟรี หรือคิดน้ำหนักในราคาพิเศษ ตราบใดที่ยังร่วมรัฐบาลชุดนี้และผมยังเป็นรมว.พาณิชย์อยู่ ก็จะเดินหน้าตามที่วางไว้

ยังเชื่อมั่นรัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปี

การเมืองไทยไม่มีใครตอบได้ยาวถึงขนาดนั้น ส่วนจะรอดปีนี้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ารัฐบาลจะมีปัญหา แม้เสียงจะปริ่มน้ำหรือการลงคะแนนในสภาจะกระท่อนกระแท่น แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ ส่วนแกนนำพรรคพลังประชารัฐหรือภูมิใจไทยยังกลมเกลียวกันอยู่

ส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหากับใครทั้งสิ้น เคยย้ำว่าเราทำงานการเมืองมาทั้งชีวิต มีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจได้ว่าการทำงานร่วมกับคนอื่น ต้องทำอย่างไร ไม่ว่าสถานะไหน ต้องทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ปชป.ดูเหมือนมีปัญหาเรื่องยกมือโหวตในสภา

พรรคไม่ได้มีปัญหา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาฯ ก็เป็นหลักสำคัญอีกคนของพรรค และกรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้มีปัญหา แม้ที่ผ่านมาอาจมีเรื่องโหวตไม่ตรงกันเกี่ยวกับญัตติการตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบมาตรา 44 หลังจากนั้นก็พูดคุยทำความเข้าใจกันได้

ได้อธิบายให้เข้าใจเรื่องหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ว่ารัฐบาลในระบบรัฐสภาจำเป็นต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภา ทุกคนจะโหวตตามหลักคิดของตัวเองไม่ได้ เพราะไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เพราะระบบรัฐสภาถ้ารัฐบาลแพ้ก็จะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล สมาชิกก็เข้าใจ

พรรคขาดความกลมเกลียวหรือไม่จึงเกิดปัญหา โดยเฉพาะหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วการทำหน้าที่หัวหน้าพรรคถูกมองว่าด้อยลงไป

ได้พูดกันชัดเจนว่ากรรมการบริหารชุดใหม่ เพิ่งเข้ามารับผิดชอบพรรค ได้แค่ 5 เดือนเศษ และทันทีที่เข้ามาพรรคก็มีมติให้ไปร่วมรัฐบาล ประกอบกับหลังเลือกตั้งพรรคเปลี่ยนสภาพมาเป็นพรรคขนาดกลาง จึงต้องปรับยุทธศาสตร์ ปรับทิศทางการทำงานและต้องทำให้เห็นชัดเจน ในเวลาที่รวดเร็ว

โดยเฉพาะการทำหน้าที่รัฐมนตรีในช่วงแรกจึงมุ่งเน้นการทำงาน ให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมในฐานะรัฐบาลก่อน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ยุคอุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไว ทำได้จริง

หลังจากนั้นจะเดินหน้าเอาความเชื่อมั่นนี้มาใช้กับการเดินหน้างานของพรรคอย่างมียุทธศาสตร์ควบคู่กับงานของรัฐบาล ประกอบกับงานในสภาด้วย หมายความว่าหลังจากนี้ประชาธิปัตย์จะเดินหน้าทำหน้าที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม พร้อมกันทั้ง 3 ด้านคือรัฐบาล รัฐสภา และพรรค

ในปีนี้ประชาชนจะเห็นกิจกรรมของพรรค ทั้งในกทม.และภูมิภาคต่างๆ มากขึ้นควบคู่กับงานสภาและรัฐมนตรี ทุกอย่างจะเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับสมาชิกพรรคและคนไทยทั้งประเทศ การเลือกตั้ง ท้องถิ่นเราก็ไม่ทิ้ง เพราะนโยบายสำคัญของพรรคคือการกระจายอำนาจ

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เราตอบชัดแล้วว่าส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม. โดยมีตัวเลือกอยู่ ถึงเวลาที่เหมาะสมจะแจ้งให้ทราบ สำคัญคือ ไม่เน้นการขายซูเปอร์แมนเหมือนในอดีต จะไม่ขายคนคนเดียว แต่จะขายทีม เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มั่นใจว่าประชาธิปัตย์ยุคใหม่เราขายอเวนเจอร์

เราจะทำงานร่วมกันเป็นทีมและผู้ว่าฯ กทม.ในนามประชาธิปัตย์จะไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่ต้องทำงานภายใต้นโยบาย การกำกับดูแลและความรับผิดชอบของพรรคและคนกรุงเทพฯ นี่คือสิ่งที่ชัดเจนสำหรับประชาธิปัตย์ยุคนี้

ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ว่าจังหวัดไหนควรส่ง จังหวัดไหนไม่ควรส่ง คงไม่ส่งไปทั้งหมด เพราะบางพื้นที่ถ้าแข่งกันเองก็ไม่เป็นผลดีกับการเมืองระดับประเทศ ต้องดูความเหมาะสม ซึ่งกรรมการแต่ละภาค กรรมการสรรหาผู้สมัคร และกรรมการกระจายอำนาจจะเป็นผู้ช่วยพิจารณา

จะไปไหวหรือไม่เพราะมีสมาชิกพรรคซึ่งเป็นที่รู้จักลาออก ทั้ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

การลาออกมีมาทุกยุคทุกสมัย ในอดีตมีทั้งคนเข้าคนออก แม้แต่ในปี 2562 มีสมาชิกเดินเข้าพรรค 1.4 หมื่นกว่าคน แต่คนออกไป 700-800 คน มีทั้งคนรุ่นใหม่ๆ นักธุรกิจมีชื่อเสียง หรือเมื่อถึงเวลาก็พร้อมเปิดตัวก็มีเพียงแต่เราอาจจะไปโฟกัสเฉพาะคนที่ออก ไม่ได้สนใจคนที่เดินเข้า ถ้ามองอย่างเป็นธรรมก็ต้องมองทั้ง 2 ด้าน

ในฐานะหัวหน้าพรรคยังมั่นใจว่าประชาธิปัตย์ ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต แม้ว่าก่อนผมเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค จะลดขนาดจากพรรคใหญ่มาเป็นขนาดกลางก็ตาม แต่วันข้างหน้าโดยยุทธศาสตร์และแนวทางที่เดินอยู่นี้จะทำให้พรรคเติบโตขึ้น ได้ต่อไปในอนาคต

มีการวิเคราะห์การลาออกของทั้งสองคนหรือไม่

ขอพูดในภาพรวมว่าคนที่ออกก็มีเหตุผลของเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีคนออกแล้วพรรคเป็นฝ่ายผิดเสมอไป ไม่เช่นนั้นก็ไม่ยุติธรรมกับพรรค คนที่ออกไปอาจมีเหตุผลส่วนตัว ต้องดูเป็นรายกรณี

ยืนยันประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ทุกคนที่ยังยืนหยัดมั่นคงอยู่กับพรรคเขามีอุดมการณ์ และพรรคไม่ได้หยุดอยู่แค่อุดมการณ์ ยังเดินหน้าสู่ความทันสมัยภายใต้การบริหารของผม กรรมการบริหารพรรค และของสมาชิกที่ยังมั่นคงอยู่กับพรรค

ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่หลายคนในพรรค รวมทั้งประชาชนทั่วไปก็ให้กำลังใจคนที่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรค ผมจึงมั่นใจว่าพรรคกำลังเดินขึ้น ไม่ได้เดินลง ไม่ว่าจะเป็นงานในรัฐบาล งานในสภาและงานในพรรค ทุกอย่างแค่เริ่มต้น ยังไม่ถึงครึ่งปีแต่เรามาได้ขนาดนี้ คิดว่าเราไปได้เร็ว

ปีนี้ปัญหาการเมืองนอกสภาอาจรุนแรงขึ้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

ขึ้นอยู่กับว่าการเมืองนอกสภานั้นระดับไหน ถ้าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญปกติก็คงไม่มีผลกระทบ เพราะเป็นปรากฏการณ์ปกติในโลกประชาธิปไตย แต่ถ้าเป็นการเมืองนอกสภาในลักษณะที่ไม่ปกติ ทุกคนก็ตอบได้เลยว่ากระทบแน่นอน

ฮ่องกงเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าสุดท้าย กระทบการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของฮ่องกงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเทศไทยคงไม่อยู่ในเงื่อนไขพิเศษ นอกเหนือกว่านั้นถ้าการเมืองนอกสภาเป็นไปในรูปแบบ ที่มีความรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และไม่มีใครอยากเห็นและอยากให้เกิดว่าการชุมนุมในไทยจะไปเหมือนในฮ่องกง เมื่อได้เห็นตัวอย่างในฮ่องกงแล้ว เราก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นในประเทศของเรา

คิดอย่างไรที่โหรสำนักต่างๆทำนายว่าการเมืองปีนี้ จะรุนแรงถึงขั้นยุบสภาหรือเกิดปฏิวัติขึ้นได้

ผมคงไม่ไปเถียงโหร เพียงแต่เราอยากเห็นการเมืองราบรื่น เพราะถ้าการเมืองราบรื่นก็จะเป็นต้นทางให้เศรษฐกิจมีโอกาสราบรื่นตามไปด้วย หลายอย่างเริ่มต้นที่การเมืองและปนอยู่กับเรื่องการเมือง เพราะการเมืองประกอบด้วยรัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคประชาชนและภาคอื่นๆ ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน