รายงานพิเศษ

6 ตุลา 2519 เป็นบทเรียนที่สำคัญของไทย เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาและป้องกันไม่ให้เกิด ซ้ำรอย

งานรำลึกในโอกาสครบรอบ 40 ปี จึงกำหนดจัดใหญ่และพิเศษกว่าทุกครั้ง ระหว่าง 6-8 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ส่วนจะพิเศษอย่างไร ต้องฟังจากปากกรรมการจัดงานและผู้มีส่วนร่วม

กฤษฎางค์ นุตจรัส

ทนายความขบวนการประชาธิปไตยใหม่

วันที่ 6 ตุลาคม จะมีกิจกรรม “นาฏกรรม ลีลาศิลป์ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 จารึกไว้ในใจชน” เริ่มตั้งแต่เวลา 05.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เคียง กับเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จากนั้นเป็น พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 41 รูป สุนทรกถา และการวางพวงมาลาจากองค์กรต่างๆ

กิจกรรมนี้จะมีการเปิดตัวมหกรรมหนังสือการเมืองบริเวณด้านข้างหอประชุมธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหกรรมที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยจัดกิจกรรมมา โดยจะให้สำนักพิมพ์ต่างๆ อาทิ มติชน รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับการเมืองทั้งเก่าและใหม่มาวางจำหน่าย คล้ายงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ยังมีนิทรรศการกลางแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นบทเรียนศึกษาว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร สาเหตุที่เป็นนิทรรศการกลางแจ้งเนื่องจากจะเป็นการวางนิทรรศการตามสถานที่จริง เช่น บริเวณสนามฟุตบอล หรือบริเวณลานโพธิ์ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาบ้าง

ส่วนภายในหอประชุมจะเป็นการแสดงดนตรีจากคนเดือนตุลา พฤษภาทมิฬ นักศึกษาที่เข้าป่าและจากคนรุ่นใหม่ จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อต่างๆ เช่น “สื่อมวลชนกับความรุนแรงทางการเมือง” ที่บรรยายโดยนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในช่วงเวลานั้น และยังคงทำงานสื่อมวลชนถึงปัจจุบัน

เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ว่าสื่อวิทยุยานเกราะ หรือหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้สร้างความขัดแย้งเช่นไร รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพของสื่อ การลงโทษโดยคำสั่งคณะรัฐประหาร

คณะกรรมการยังจัดทำภาพยนตร์ชื่อ “ด้วยความนับถือ” ความยาว 45 นาที ถ่ายทอดบทชีวิตบุคคลช่วงเวลานั้น ผ่านการบอกเล่าจากญาติและผองเพื่อน เพื่อสะท้อนความเงียบตลอด 40 ปี ในการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางการเมือง ถือเป็นมิติใหม่ของภาพยนตร์ที่จัดทำเป็นพิเศษในวาระครบรอบ 40 ปี โดยจะฉายวันแรกที่หอประชุมศรีบูรพา และฉายซ้ำอีก 2 วันที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์

จุดประสงค์การจัดกิจกรรมมี 2 ประการ คือ เพื่อรำลึกถึงความเสียสละ คุณงามความดี ของคน 6 ตุลา และเพื่อเรียนรู้เป็นกรณีศึกษาในสังคมไทยที่คงไม่มีใครต้องการให้เกิดการ สูญเสียเพราะความขัดแย้งทางการเมือง

พวงทอง ภวัครพันธุ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การจัดกิจกรรมวิชาการ 40 ปี 6 ตุลา ปีนี้ คณะผู้จัดงานใช้หัวข้อ “ความขัดแย้งและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย” จะเป็นลักษณะการนำเสนอบทความทางวิชาการที่เคยตีพิมพ์ 7 ชิ้น ประกอบด้วย

1.บทความเรื่อง “ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชน รอยัลลิสต์ : ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย” ของนายเกษียร เตชะพีระ

2.บทความเรื่อง “การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรมและความรุนแรง : จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน” ของนายประจักษ์ ก้องกีรติ

3.บทความเรื่อง “เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม : กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้” ของน.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

4.บทความเรื่อง “การละเมิดแบบเดิม แต่การปิดกั้นความจริงแบบใหม่ : รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519” ของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

5.บทความเรื่อง “การกำจัดเผด็จการทหารในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในกรีซ” ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล

6.บททดลองเสนอเรื่อง “อภิสิทธิ์ปลอดความผิด และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทยๆ” ของนายธงชัย วินิจจะกูล

และ 7.บทความเรื่อง “ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด : องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ตนเขียนเอง

กิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้นำเสนอเพียงเรื่องราวช่วงเดือนตุลาคม 2519 ที่ปรากฏผู้กระทำความรุนแรงชัดเจน แต่สังคมไทยไม่ได้พูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่พูดถึงผู้เกี่ยวข้องว่าต้องถูกนำมาลงโทษอย่างไร

เหมือนเรายอมรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปโดยปริยาย ถือเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมยอมรับความผิดที่เกิดขึ้นโดยให้ผ่านเลยไปง่ายๆ ทำให้มีการใช้ความรุนแรงจากรัฐเกินเลยกับประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า

ทั้งเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่หลังการล้อมปราบผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 17-21 พฤษภาคม 2535 ถึงแม้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนนอก ที่เป็นสาเหตุหลักของการชุมนุมจะลาออกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535

แต่ก่อนหน้านั้น 1 วัน พล.อ.สุจินดาได้ออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 สาระสำคัญคือทั้งผู้กระทำอันได้แก่ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการในการล้อม ปราบ รวมทั้งประชาชนผู้สูญเสีย “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง” เท่ากับเป็นการรับรองการฆ่าอย่างถูกกฎหมายนั่นเอง

ฆาตกรรมการเมืองโดยไม่ต้องรับผิดนั้นไม่ได้เกิดครั้งแรกในปี 2535 เพราะอย่างน้อยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ก็ไม่มีใครต้องรับผิดเช่นกัน ขณะที่การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการร่วมกันของสังคมโดยไม่ต้องรับผิดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2490 แล้ว

หรือแม้แต่การสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งเหตุการณ์ขณะนี้ที่อยู่ภายใต้ระบอบทหาร ใช้อำนาจละเมิดสิทธิประชาชน เพราะเขาเชื่อว่าไม่ต้องรับผิด ดังนั้น ต้องทำให้ประชาชนตระหนักในปัญหาว่าคนที่ทำผิดต้องรับผิดและถูกลงโทษ

คำถามก็คือนี่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอย่างเดียวหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหาข้อกฎหมาย แต่สะท้อนถึงดุลอำนาจที่เป็นจริง แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ เช่น ในปี 2516 หรือ 2535 ก็ไม่สามารถนำผู้สั่งฆ่ามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ไม่ต้องกล่าวถึงความพ่ายแพ้ในปี 2519 และ 2553 รวมถึงฆาตกรรมการเมืองอื่นๆ

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็เพราะสังคมไทยไม่เคยแตกหักโดยการเมืองมวลชนจริงๆ ดังนั้น แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะแต่กลุ่มอำนาจเดิมก็ยังอยู่ ทุกอย่างจึง จบลงแบบประนีประนอม ไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ แล้ววงจรการฆ่าโดยไม่ต้องรับผิดก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นเดิม

ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะหยุดวัฏจักรอันเลวร้ายก็คือ การสร้างวัฒนธรรมการรับผิด พร้อมกับการปรับดุลอำนาจทางการเมืองไปพร้อมกัน ถ้าทำไม่ได้ก็ป่วยการที่จะพูดถึงการปรองดอง สมานฉันท์ หรือแม้แต่อภัยวิถี

ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นบทสรุปหนึ่งว่า เหตุใดเราจึงใช้หัวข้อดังกล่าวจัดกิจกรรมครั้งนี้

อนุสรณ์ อุณโณ

คณบดีคณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์

คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จะรับผิดชอบงานเสวนาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ที่ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในชีวิตโดย ผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุว่างานนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่จัดนั้น คงเพราะเวลาผ่านมาจนถึงตอนนี้กลุ่มคนเดือนตุลาบางส่วนผันตัวเองออกไปอีกทิศทางหนึ่ง ไม่เป็นกลุ่มก้อน จนถึงขนาดถูกตั้งคำถามที่แท้จริงของอุดมการณ์ทางการเมือง ที่นอกจากจะไม่ใช่ฝ่ายหัวก้าวหน้าแล้วยังถูกครหาว่าเปลี่ยนไปยืนฝ่ายอนุรักษนิยมอีก

ภาพคนเดือนตุลาจึงดูแตกกัน หากจะเดินหน้าจัดต่อก็จะดูอิหลักอิเหลื่อ ลักลั่น ไม่สามารถอวดอ้างอุดมการณ์ที่ร่วมเคลื่อนไหวกันมา มีการแยกกันจัดงานกิจกรรม สิ้นมนต์ขลังสถานการณ์การต่อสู้

ทว่าระหว่างการเปลี่ยนแปลงตลอด 40 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ก็เติบโตขึ้น ท่ามกลางการเรียนรู้เหตุการณ์เรื่อยมา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร 2475 นักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย 2516 ปราบปรามนักศึกษา 2519 พฤษภาคม 2535 สลายการชุมนุมกลุ่มนปช. 2553

ตลอดจนวัฏจักรวนเวียนแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในทศวรรษล่าสุด ที่เริ่มต้นจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มถูกตั้งคำถาม เชื่อมโยงไปมาเพื่อหาคำตอบ จนค่านิยมจารีตเดิมที่กล่อมเกลาสืบทอดต่อกันมาเริ่มถูกท้าทาย

นี่จึงเป็นโอกาสดีที่คนเดือนตุลาเลือกจะส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่

สำหรับเหตุการณ์เดือนตุลาเอง ก็ยังมีหลายโจทย์ที่ต้องการคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดชอบของผู้อยู่เบื้องหลังที่นำไปสู่ความสูญเสียจำนวนมาก ตลอดจนการ ร่วมกันหาหนทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน