ศก.อุปาทานหมู่

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คดีบุคคลหรือสมาชิกครอบครัวฆ่าตัวตายโดยทิ้งข้อความว่า เป็นเพราะสู้ภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ เป็นข่าวสะเทือนใจต่อเนื่องจากปี 2562 มาถึงเริ่มปี 2563

โดยเฉพาะกรณีสะเทือนขวัญที่จังหวัดอุดรธานี หัวหน้าครอบครัวสังหารภรรยาและลูกสาว 2 คน เขียนถึงความกดดันในชีวิต และหนี้สินก่อนจบชีวิตตนเองตามไป

ต่อเนื่องจากกรณีสามีภรรยาที่จังหวัดเชียงใหม่จบชีวิตพร้อมกัน โดยทิ้งข้อความระบุถึงภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อธุรกิจ

โศกนาฏกรรมลักษณะนี้ แม้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็เป็นส่วนที่สะท้อนปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรใส่ใจและแสดงความห่วงใย มากกว่าคิดว่าควรจำกัดการเสนอข่าวลักษณะนี้ เพราะกลัวเกิดภาวะอุปาทานหมู่

ภาวะอุปาทานหมู่เป็นปรากฏการณ์ทางจิตสังคม เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าตนกำลังประสบภาวะเจ็บป่วยหรืออาการอื่นอย่างเดียวกัน

การตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมหรือปลิดชีวิตคนในครอบครัวด้วยหลายคดีที่เกิดขึ้นในปี 2562 มีใจความสำคัญคล้ายกัน ที่ระบุถึงการหาทางออกของปัญหาหนี้สินไม่ได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ไม่ใช่เป็นชะตากรรมของคนมีความเชื่อว่าตนเองกำลังเจ็บป่วย หรือถูกอำนาจเหนือธรรมชาติเข้าสิง แต่มาจากความทุกข์ร้อน และความกดดันทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

แม้รัฐบาลไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงกับชีวิตของปัจเจกบุคคล แต่ควรเห็นการดูแลทุกข์สุขของประชาชนเป็นภาระหน้าที่สำคัญ

ช่วงก่อนรัฐประหาร เมื่อปี 2556 ที่เหตุการณ์ผู้ประท้วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาได้ เกิดคดีเกษตรกรฆ่าตัวตายเพราะความทุกข์ใจ จนมีกระแสกล่าวโทษว่าเป็นความผิดรัฐบาลมาแล้ว

สิ่งที่รัฐบาลตอนนั้นต้องทำคือเร่งหาหนทางต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจ่ายเงินให้เกษตรกร แม้แต่ขอกู้เงินจากธนาคาร

แม้ว่ามีอุปสรรคมากมายขัดขวาง แต่ปฏิกิริยาที่เดือดเนื้อร้อนใจและเห็นอกเห็นใจประชาชนที่กำลังลำบากเป็นการแสดงออกที่สำคัญของรัฐบาล

การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนเป็นคุณสมบัติหนึ่งของรัฐบาลประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน