วิ่ง-เดิน-การเมือง

คอลัมน์บทบรรณาธิการ

วิ่ง-เดิน-การเมือง – กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในนาม “วิ่งไล่ลุง” มีความพร้อมแล้ว ในส่วนกลางมีผู้สมัครเข้าร่วมทางออนไลน์แล้วกว่า 1 หมื่นคน และคาดว่าจะมีผู้ร่วมสังเกตการณ์อีกหลายพันคน

แต่เดิมนั้น จะใช้เส้นทางจากลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิ่งไปวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ด้วยเหตุผลบางประการ จึงต้องย้ายไปจัดที่สวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ จตุจักรแทน

กลุ่มผู้จัด ซึ่งประกอบด้วยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เคลื่อนไหวเตรียมการอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเทียบเชิญผู้มีอำนาจในรัฐบาล ตลอดจนผู้นำเหล่าทัพ และพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วมกิจกรรมด้วย

เต็มไปด้วยความคึกคักและมีสีสันในพื้นที่ข่าว

ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่จัดกิจกรรมนี้ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม ในต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัดก็พร้อมเคลื่อนไหววิ่งออกกำลังกายเชิงสัญลักษณ์คู่ขนานกันไปเกือบทั้งประเทศ

แม้แต่ในต่างประเทศ ก็มีกลุ่มคนไทยร่วมด้วยช่วยกันจัดกิจกรรมนี้ ล่าสุดเป็นที่ยืนยันแล้วทั้งที่เมืองอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น และสวนสาธารณะมอนเทอเรย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

วิเคราะห์กันว่า เป็นการขยายวงแห่งความอึดอัดทางการเมือง อันเนื่องมาจากกระแสเบื่อรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากเผด็จการสืบทอดอำนาจ

เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจควรนำมาขบคิดให้ถ่องแท้

แม้จะเป็นกิจกรรมด้านการกีฬา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางเมือง ซึ่งไม่อยู่ในความครอบคลุมของพ.ร.บ.การจัดชุมนุมสาธารณะ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ประหวั่นพรั่นพรึง มีความพยายามกีดกัน กดดัน ขัดขวางไม่ให้จัดกิจกรรมแผ่กว้างออกไป

บางแห่งไม่อนุญาตเลย บางแห่งอนุญาตแต่ห้ามมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเมือง การโฆษณาปราศรัยที่เกี่ยวข้องและกระทบกระทั่งรัฐบาลอีกทั้งสถาบันการศึกษาบางแห่งก็ห้ามเด็ดขาด ทั้งที่เป็นสังคมอุดมปัญญา

ขณะเดียวกัน กิจกรรมนี้ก็มีผลต่อการโต้กลับ คัดค้าน โดยอ้างว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย มีการนัดทำกิจกรรมที่สวนทางกัน “เดินเชียร์ลุง” ที่สวนลุมพินี ในวันและเวลาเดียวกัน

ย่อมเป็นเสรีภาพที่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน