ผู้เฒ่าไร้รัฐ ปัญหาที่ยังคงอยู่

ผู้เฒ่าไร้รัฐ ปัญหาที่ยังคงอยู่ – พื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดเชียงรายเป็นป่าเขาคาบเกี่ยวกับเพื่อนบ้านหลายประเทศ ในอดีตล้วนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้อิงกับความเป็นรัฐชาติ แม้จะผ่านวันเวลามาเนิ่นนาน การพิสูจน์สัญชาติและได้รับสัญชาติไทยยังคงเป็นปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน

ครูแดงและนางหมี่จรเพิ่งได้รับบัตรจากการช่วยเหลือ

ข้อมูลจากที่ว่าการปกครอง จ.เชียงราย เมื่อเดือน พ.ค.2562 พบว่ายังคงมีผู้ขอสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติไทย จำนวน 481 คน เกือบครึ่งหนึ่งกำลังรอผลการตรวจซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มว่าความทุกข์ยากของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อดีตซึ่งยังไม่ได้สัญชาติไทยจะได้รับการแก้ไขทั้งหมด

มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) องค์กรที่เข้าไปทำงานรับรู้สภาพปัญหาดังกล่าวบนภูเขาพื้นที่ จ.เชียงราย มาอย่างต่อเนื่อง โดยมี “ครูแดง” นางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา พชภ.

โดยเข้าทำงานในพื้นที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจ หมู่ 5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ปี 2517 เมื่อครั้งไปเข้าค่ายในขณะที่ยังเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ 45 ปีก่อน พบสภาพปัญหา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตั้ง พชภ. และเข้าไปจัดตั้งศูนย์ทำงาน ณ บ้านป่าคาสุขใจ

เป็นแห่งแรก และเป็นเหตุให้ครูแดงทราบว่ายังมีผู้คนในหมู่บ้านป่าคาสุขใจและใกล้เคียงอีกจำนวนมากที่มีฐานะไร้สัญชาติ

ปัจจุบันผ่านพ้นเวลามานานผู้คนที่ครูแดงเคยรู้จักหลายคนได้รับการช่วยเหลือจนได้รับสัญชาติไทยมีบัตรประจำตัวประชาชน แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่เข้าสู่วัยชราภาพกลายเป็น “ผู้เฒ่าไร้รัฐสัญชาติติดแผ่นดิน” ขณะที่คนรุ่นลูกหลานได้รับสัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนดหมดแล้ว

“จากการเข้าไปทำงานในพื้นที่มานานทำให้รู้ถึงสภาพพื้นที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว แต่ด้วยเหตุผลด้านภูมิประเทศและความห่างไกลทุรกันดาร จึงประสบปัญหาการตกสำรวจหรือเมื่อสำรวจแล้วได้สถานะที่ไม่ใช่ผู้ถือบัตรประจำตัวประชาชนที่สมบูรณ์

พชภ.พยายามช่วยเหลือด้วยการรวบรวมข้อมูลหลักฐานและพยานยื่นต่อฝ่ายปกครองตามท้องที่อำเภอในพื้นที่ สามารถช่วยเหลือจำนวนหนึ่งเพราะมีข้อจำกัดของพื้นที่ทำงานและอื่นๆ แต่ยังคงเหลือผู้ที่ตกสำรวจ กระบวนการยื่นเรื่องซับซ้อนและยากเกินความสามารถของชาวบ้าน

กระทั่งเมื่อแต่ละคนเข้าสู่วัยชรา การดำเนินการยิ่งยากกว่าเดิม ปัญหาสุขภาพที่ผู้เฒ่าไร้สัญชาติต้องพบเจอก็ถาโถมเข้ามาโดยที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและไม่ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเหมือนคนไทยทั่วไป” ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าว

ล่าสุด พชภ. โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการพัฒนาสุขภาวะ ผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในพื้นที่พรมแดนไทย-เมียนมา และไทย-ลาว

ร่วมกับ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำงานด้านสิทธิบุคคล นางเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ. และคณะ

ดร.พันธุ์ทิพย์

เดินทางไปพบปะผู้เฒ่าในพื้นที่ดำเนินโครงการของ พชภ. ที่บ้านกิ่วสะไต และหมู่บ้านเฮโก บริเวณหมู่บ้านสันติสุข ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย และหมู่บ้านป่าคาสุขใจ หมู่ 5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ที่หมู่บ้านกิ่วสะไตพบว่ามีผู้เฒ่าอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 16 คน พชภ.รวบรวมข้อมูลหลักฐานการอยู่ในพื้นที่โดยอิงตามเอกสารสำรวจของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาและอื่นๆ ใช้เวลา 7 เดือน ต่างได้รับสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชน ตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตามในหมู่บ้านเดียวกันพบว่ายังมีผู้เฒ่าอีกหลายคนที่อายุต่ำกว่า 65 ปีและไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายดังกล่าวยังคงถือบัตรอื่นๆ เช่น นางอาบา เชอมือกู่ อายุ 61 ปี

ยังคงถือบัตรชุมชนพื้นที่สูง (ชาวเขา 9 เผ่า) โดยไม่มีสัญชาติไทย หรือคนรุ่นลูกหลานหลายคนได้รับบัตรแล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่ในบัตรไม่มีวันที่และเดือนเกิด ทำให้นำไปประกอบการทำเอกสารอื่นๆ ไม่ได้

นายอาฮือ

นายอาเหล่

นางหมี่จร เบกากู่ อายุ 88 ปี ผู้เฒ่าชาวอาข่า 1 ใน 16 คนดังกล่าว เล่าว่าตนเกิดที่ดอยหัวแม่คำ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง ย้ายมาอยู่ที่บ้านกิ่วสะไตกว่า 40 ปีแล้ว เพิ่งได้รับบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อยามแก่เฒ่า ในอดีตประสบปัญหาไม่ได้รับสิทธิต่างๆ มากมาย ปัจจุบันชราภาพแล้วคงไม่ได้ออกไปไหนอีก กระนั้นก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย

ส่วนที่หมู่บ้านเฮโกถิ่นอาศัยของชาวลีซู พบผู้เฒ่าหลายคนที่มีหลักฐานและพยานบ่งชี้ว่าเกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วแต่ถูกระบุว่าเป็นชาวเมียนมา โดยเฉพาะในรายของนายอาเหล่ งัวยา อายุ 81 ปี ผู้ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน

ยืนยันว่าตัวเองเกิดที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และย้ายมาอาศัยอยู่ที่บ้านเฮโกมานานแล้ว ที่ผ่านมายังมีหลักฐานอยู่ในการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา แต่ปัจจุบันฝ่ายปกครองสำรวจแล้วระบุให้เป็นผู้ไร้สัญชาติ พชภ.และดร.พันธุ์ทิพย์จะนำข้อมูลเอกสารต่างๆ มาตรวจสอบเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือนายอาเหล่และคนอื่นๆ ที่อาจจะเสียสิทธิที่พึงได้ในวัยชรา

ขณะที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจ สภาพปัญหาแตกต่างออกไปแต่มีความชัดเจนมากกว่า จุดอื่นๆ เนื่องจากผู้เฒ่าส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาจริง แต่ย้ายเข้ามาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ปัจจุบันใช้ชีวิตกลมกลืนกับพื้นที่

ที่ผ่านมา พชภ.จึงช่วยเหลือคนรุ่นลูกหลานที่เกิดในประเทศไทยจนได้รับบัตรประจำตัวประชาชนเป็นคนไทยเต็มตัว โดยมีในรายของ นายแมยัง อมรสิริเลิศทิพย์ อายุ 50 ปี เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะเกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด แต่ต้องถือบัตรต่างด้าวทำให้เรียกร้องขอมีสัญชาติไทยมานานหลายสิบปี หลายครั้งที่เขาต้องร้องไห้อย่างท้อใจ

บางครั้งก็มีเหตุ กระทบกระทั่งกับผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ เพราะมีข้อมูลหลักฐานครบถ้วน ปัจจุบันนายแมยังได้รับสัญชาติไทยและถือบัตรอย่างเต็มตัวจึงคอยช่วยเหลือคนรุ่นพ่อแม่ที่แก่ชราต่อไป เพราะยังมีผู้เฒ่าไร้รัฐติดแผ่นดินอยู่ในหมู่บ้านป่าคาสุขใจจำนวน 126 คน โดยกรณีของ นายอาฮือ หว่อปอกู่ อายุ 67 ปี รอมานานกว่า 43 ปีแล้ว

 

ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและดำเนินการเรื่องเอกสารหลักฐานต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนดี ไม่เช่นนั้นคงไม่มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือหลายราย อย่างกรณีของ ผู้เฒ่าที่หมู่บ้านกิ่วสะไตทั้ง 16 คน

หรือแม้แต่อีกหลายรายที่ชาวบ้านไปแจ้งเรื่องได้ไม่นานก็ทราบผลการดำเนินการ แต่กรณีที่ยังพบปัญหาและชาวบ้านมาถามไถ่ เช่นที่หมู่บ้านกิ่วสะไตที่ชาวบ้านบางคนถือบัตรประจำตัวประชาชนไม่มีวันที่และเดือนเกิดนั้น ตามกฎหมายสามารถไปขอเพิ่มเติมได้

ณ ที่ว่าการอำเภอ การที่ชาวบ้านระบุว่า เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่าบัตรของเขาทำไม่ได้นั้น เห็นว่าไม่ถูกต้องและสงสัยว่าหากเป็นจริงแล้วใช้กฎหมายใดอ้างอิง

ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวต่อว่า ส่วนที่หมู่บ้านเฮโกในรายของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ พบว่าเอกสารที่ใช้สำรวจบุคคลบางส่วนไม่ได้แจ้งที่มาที่ไปชัดเจน และข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงาน จะร่วมกับ พชภ.รวบรวมข้อมูลหลักฐานกันใหม่

ขณะที่กรณีของหมู่บ้านป่าคาสุขใจถือว่าเข้าข่ายการขอแปลงสัญชาติซึ่งทำได้ 3 รูปแบบ คือรูปแบบทั่วไปที่ต้องเข้าข่าย 5 เงื่อนไข คืออายุ 20 ปีบริบูรณ์ มีความประพฤติดี มีอาชีพเป็นหลักฐาน มีชื่อในทะเบียนบ้านมาแล้ว 5 ปี พูดฟังภาษาไทยได้

หลายคนมีคุณสมบัติครบถ้วน รูปแบบที่ 2 กรณีเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ซึ่งพบว่าชาวบ้านแห่งนี้อนุรักษ์และปลูกป่าให้อุดมสมบูรณ์ และอื่นๆ ซึ่งก็เข้าข่ายเช่นกัน ส่วนรูปแบบที่ 3 ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส

“ตามกฎหมายแล้วเมื่อเจ้าหน้าที่ออกใบรับคำร้องจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน พชภ.และตนจะพยายามรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ นำเสนอให้

เจ้าหน้าที่ออกใบรับคำร้องเพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป” ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน