หนี้พอก

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หนี้พอก – รายงานล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่ออกมาเป็นเรื่องใกล้ตัวกับประชาชนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

เมื่อเอ่ยถึง “หนี้ครัวเรือน” ที่มีสัดส่วน เกือบจะแตะ 80% ของจีดีพี หรือคิดเป็น 13.2 ล้านล้านช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562

ข้อมูลดังกล่าวบรรจุอยู่ในรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยประจำปี 2562 ระบุว่า ถึงแม้ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีความมั่นคง แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

พร้อมเน้นย้ำถึงหนี้ครัวเรือนว่าเป็นจุดเปราะบางหรือมีการสะสมความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์หนี้ครัวเรือน มีสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ตัวเลขนี้กลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2561 เป็นการขยายตัวจากสินเชื่ออุปโภคและบริโภคทุกประเภท เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต

เมื่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มฐานะการเงินเปราะบาง เช่น ครัวเรือนเกษตรกร และผู้ที่เกษียณอายุ เจอปัญหารายได้ลด เศรษฐกิจซึม ก็จะยิ่งผิดชำระหนี้สูง

เมื่อหนี้ผ่อนสั้น มีอัตราดอกเบี้ยสูง ปัญหาที่ตามมาคือภาวะเหมือนดินพอกหางหมูที่หนี้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ธปท. เองก็รับสภาพว่าหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากและใช้เวลา

ทางออกที่ธปท. เสนอแก้ปัญหานี้คือต้องแก้แบบองค์รวม รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นอกจากเน้นกับตัวผู้บริโภคที่ต้องมีวินัยทางการเงินแล้ว ยังเตือนไปถึงผู้ปล่อยสินเชื่อ และนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่เดิม

อีกข้อที่น่าจะเตือนไปถึงรัฐบาลคือหลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กลุ่มครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

แม้ธปท. ไม่ได้ระบุว่าเป็นมาตรการใดที่ออกมาแล้วเงินจมหาย นอกจากไม่ช่วยเศรษฐกิจแล้วยังทำให้หนี้ที่มีอยู่ไม่บรรเทาเบาบางลง

แต่รัฐบาลควรตระหนักว่า ถ้าประชาชนมีหนี้พอก การทุ่มเงินลงไปโดยไม่ช่วยลดหนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยากให้ฟื้นคืนมานั้น เป็นไปไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน