คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สัปดาห์นี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ช่วยเหลือ ผู้ที่มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ จัดสรรงบประมาณให้ผู้ที่มีรายได้น้อยแบบเฉพาะเจาะจง

สำหรับกองทุนนี้จะตราเป็นกฎหมายเฉพาะ ในระยะต่อไปเพื่อดำเนินการใน 5 เรื่อง ได้แก่ การดูแลคุณภาพชีวิต การพัฒนาอาชีพ บรรเทาความเดือดร้อน การดูแลเรื่องที่ดินทำกิน และหลักประกันความเสี่ยง

หากพิจารณาตามนี้เท่ากับเป็นวิธีการจัดฐานข้อมูลประชากรเข้ากับการใช้เงินของรัฐที่มีผลผูกพันในระยะยาว

มติของครม.ในการประชุมเดียวกันนี้ยังขยายระยะเวลารถเมล์ และรถไฟฟรี ออกไปอีก 5 เดือนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2560 คาดว่าจะใช้วงเงินในการดำเนินโครงการ 1,907 ล้านบาท แบ่งเป็น รถเมล์ฟรี 1,540 ล้านบาท และรถไฟ 367 ล้านบาท ถือเป็นต่ออายุครั้งสุดท้าย เพื่อให้มาตรการนี้หมดอายุลง

จากนั้นเมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค. 2560 รัฐบาลจะออกบัตรสวัสดิการเพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยใช้ในการโดยสารรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรี เฉพาะคนที่ได้บัตรลงทะเบียนคนจนเท่านั้น

ทะเบียนคนจนดังกล่าวนี้กำหนดให้ผู้มีคุณสมบัติ รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี ต้องไปลงทะเบียนภายในวันที่ 15 พ.ค.2560

เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์

การจัดแจงมาตรการดังกล่าวที่สานต่อมาจากรัฐบาลชุดก่อนๆ มาทำเป็นระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นนั้นคาดว่าจะช่วยให้การแจกจ่ายเงินสวัสดิการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่การกำหนดด้วยกฎหมายจะส่งผลถึงการบริหารงานของรัฐบาลชุดต่อไปอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ และอาจเป็นเงื่อนไขต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ใช้หาเสียงกับประชาชน

การแจกเงินสวัสดิการเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทางหนึ่ง และในอีกทางหนึ่งคือการ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย

มาตรการด้านสวัสดิการของรัฐจึงต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้ปรับเข้า กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน