ฝุ่นเริ่มรุนแรง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ฝุ่นเริ่มรุนแรง : กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล จำนวน 52 สถานี

ผลปรากฏว่าตรวจวัดค่าได้ 47-85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ..) ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.. โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

ส่วนคุณภาพอากาศนั้น พบว่าอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพบพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือพื้นที่ สีส้มแล้วจำนวน 50 สถานี

สถานการณ์เริ่มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยประสบกับภาวะมลพิษลักษณะนี้มาแล้ว ทั้งในเมืองใหญ่ที่มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ การคมนาคมขนส่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันเสีย

ขณะที่เดียวกันในพื้นที่ต่างจังหวัด ฝุ่นพิษขนาดเล็กซึ่งกระทบต่อสุขภาพ เกิดจากไฟไหม้ป่า การเผาทำลายซังพืช ตลอดจนการเผาขยะที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างถูกสุขลักษณะ

ปัญหาดังกล่าว ที่จางหายไปโดยไม่บานปลายจนกระทบในวงกว้างนั้น มาจากการกำจัดโดยธรรมชาติเอง ทั้งลมพัดพาไปและฝนตกชะ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการป้องกันและแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างเป็นระบบ

น่าสงสัยว่าทำไมรัฐบาลถึงยังมองไม่เห็นปัญหานี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเกิดขึ้นทุกปี

องค์กรอนามัยโลก กำหนดให้ฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง มาตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งเป็นสาเหตุ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันสมควร

รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เสียงต่อการตาย เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคมะเร็งปอด, โรคหัวใจขาดเลือด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง

จริงๆ แล้วปัญหาฝุ่นพิษหมอกควันนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางพรรค ได้อภิปรายท้วงติง เตือนให้รับมือ และแนะนำรัฐบาลนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว

แต่ก็ไม่ให้ความสำคัญ จนเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ก็ออกมาตรการแก้ไขเฉพาะหน้าไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน