อย่าขยายรอยร้าว

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

อย่าขยายรอยร้าว – ความแตกแยกในสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ปัจจัยหลักสำคัญประการหนึ่งคือปัญหา “สองมาตรฐาน” ของการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำ เมื่อไม่สามารถยึดเหนี่ยวอะไรเป็นหลักหรือมาตรฐานได้ ย่อมทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างผู้เสียเปรียบกับผู้ได้เปรียบจากความไม่เป็นธรรมนั้น

ฉะนั้น หากต้องการคืนความสงบสุขให้กับสังคมไทยจริง ปัญหาหนึ่งที่จะต้องเร่งจัดการ ก็คือการขจัดการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานให้หมดไป

มิใช่ทำให้รอยร้าวนี้ยิ่งแตกกว้างขึ้น เพราะคนจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกว่า

ยังมีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมอยู่

ดังเช่นสองกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น

กรณี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ระบุว่าไม่สามารถเอาผิด น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ แม้จะมีการครอบครองที่ดินส.ป.ก. อย่างผิดกฎหมายก็ตามที เพราะมีการคืนที่ดินกลับมาหมดแล้ว

คำถามก็คือเมื่อความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว การคืนของกลางกลับไป จะสามารถลบล้างเหมือนความผิดนั้นไม่เกิดขึ้นได้หรือ

และจะมีคำอธิบายอย่างไร เมื่อเทียบกันกับกรณีประชาชนรายอื่นๆ ที่ถูกราชการแจ้งดำเนินคดีในกรณีรุกล้ำที่ดินของรัฐ

หรือกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นทางกฎหมายว่า กรณีการร้องเรียนเรื่องเสียบบัตรแทนของส.ส. ที่อาจจะทำให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเป็นโมฆะได้นั้น

แตกต่างกับความผิดอย่างเดียวกันในอดีต

คําถามก็คือ ถ้าการเสียบบัตรลงคะแนนแทนของส.ส.ในครั้งก่อน นำไปสู่การถอดถอนส.ส. ล้มร่างกฎหมาย และเอาผิดกับรัฐบาล โดยคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

การเสียบบัตรครั้งนี้จะกลับมาเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่มีความผิดได้อย่างไร

ความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย ที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มหรือพวกของตน ในขณะที่มุ่งหน้าเอาผิดกับฝ่ายตรงข้ามหรือผู้อื่น

ต้องหมดไปจากสังคมไทยได้แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน