คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หมายเหตุ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดกิจกรรมวันปรีดี พนมยงค์ ปี 2560 มีการอภิปรายเรื่อง “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย”

ปฤณ เทพนรินทร์

คณะรัฐศาสตร์ ม.มหาสารคาม

มรดกทางภูมิปัญญาของนายปรีดี เหมาะสำหรับคนที่แสวงหาสังคมไทยที่ดีกว่า โดยเฉพาะช่วงศักราชใหม่ที่ไทยกำลังผูกตัวเข้ากับทุนนิยมอย่างซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงพายุใหญ่ที่กำลังจะมา

ระยะ 2-3 ปีหลัง ทุกรัฐบาลต่างพูดถึงกับดักรายได้ปานกลางเพื่อยกระดับชนชั้นกลางใหม่เข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มองเรื่องปรับโครงสร้างพื้นฐานว่าจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรม

รัฐบาลปัจจุบันกำลังอิงกับจีนอย่างชัดเจนตามโมเดลเห็บกระโดด ไม่ใช่เรื่องแปลกตลอดเวลาที่ผ่านมาเราก็พึ่งพิงมหาอำนาจมาโดยตลอด รอบแรกไปกับอาณานิคมอังกฤษ ถัดมาคืออเมริกา ท่ามกลางกระแสโลกภิวัตน์ ภายใต้ทุนของญี่ปุ่น

ครั้งนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกรอบซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เอื้อคนตัวเล็ก เราจำเป็นต้องรับมือจึงต้องมีการกำกับจากภาคประชาสังคมเพื่อการต่อรองการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งจำเป็นอย่างมาก แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีในปัจจุบัน

หนทางที่หน้าลองคือ การสร้างชาตินิยมที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ต้องเดินไปภายใต้ดุลยภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ต้องมีสิทธิเสรีภาพให้อำนาจคนต่อต้านขัดขืน ให้คนจำนวนมากมีอำนาจตัดสินใจในการเข้าถึงทรัพยากร

สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตัวอย่างคือการโตเดี่ยวที่เหลื่อมล้ำสูงมาก โจทย์ของสภาพสังคมไทยวันนี้ ไม่ใช่ทักษิณกับอำมาตย์ ครั้งนี้เราต้องรักกันมากกว่าครั้งไหน การกระโดดเข้าสู่ทุนนิยมรอบใหม่ถ้าไม่มีประชาธิปไตยจะเป็นปัญหา

แนวคิดประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของนายปรีดี เป็นการประนี ประนอมระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ จะเกิดความเป็นไปได้ ถ้ามีชาตินิยมของประชาชน ที่ผ่านมานายปรีดีพยายามประนีประนอมระบอบเก่าและระบอบใหม่ ตระหนักและเข้าใจระบอบเก่า พร้อมทั้งลงหลักปักฐานระบอบใหม่ ส่วนระบอบไหนจะมีอำนาจนำจะต้องสร้างชาตินิยมให้ได้

บทเรียนที่ได้จากหลักการแบบนี้คือความพยายามเปลี่ยนการเมืองให้พร้อมรับมือกับเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อจำกัดที่ต้องอยู่ภายใต้ชนชั้นนำที่ เข้มแข็งยาวนาน เพราะเขาครอบครองทรัพยากรทั้งกำลังและความคิด

รัฐประหารครั้งนี้ หลายคนเชื่อจริงๆ ว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เชื่อในคำสัญญาว่าพวกเขาจะเมตตาแบบนั้นจริงๆ แต่หากต้องการให้คนตัวเล็กมีส่วนร่วมก็ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้ง

เพราะอย่างน้อยนักการเมืองประชาชนกดดันได้ ทั้งยังต้องมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อคัดค้านต่อรองผู้มีอำนาจเพื่อเข้าถึงทรัพยากร ตามหลักประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จริงๆ

ความแตกแยกพัฒนามาไกลมาก ผู้คนรู้สึกขมคอหากต้องให้ญาติดีกับอีกฝ่ายหนึ่ง เราไม่มีอะไรต่อรอง ทำได้เพียงขอความเมตตาเป็นครั้งคราว

เงื่อนไขสำคัญในความสำเร็จของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การประนีประนอมต้องค่อยๆ เริ่มจากคนที่พอคุยกันได้แล้วเริ่มขยายไป เพื่อคว้าโอกาสที่สามารถสร้างดุลยภาพใหม่ขึ้นมาในช่วงนี้ได้

ความท้าทายคือการสร้างความเป็นชาติ ที่ไม่ต้องสร้างคนกลุ่มอื่นมาเป็นศัตรู แต่ร่วมกันลงแรงเพื่อไม่ต้องการให้ประเทศชาติของเราล้าหลัง ประชาชาตินิยมเป็นเดิมพันที่น่าลอง

มรดกทางภูมิปัญญาของนายปรีดี เหมาะสำหรับคนที่แสวงหาสังคมไทยที่ดีกว่า ในช่วงศักราชใหม่ที่เรากำลังผูกตัวเข้ากับทุนนิยมอย่าง เข้มข้น

ไชยันต์ รัชชกูล

คณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ ม.พะเยา

จากงานศึกษาทางวิชาการพบว่าในบรรดาคณะราษฎรคนที่ถูกโจมตีมากที่สุดและต่อเนื่องทุกสมัยคือนายปรีดี ตั้งแต่ปี 2476-2560 ทั้งหมดสะท้อนว่า นายปรีดี ยังคงมีความสำคัญ

ทำให้เห็นว่าโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองไทยยังเหมือนเดิม ยุทธวิธีในการทำลายประชาธิปไตยก็ยังเหมือนเดิม

ประเด็นโจมตีนายปรีดีแบ่งได้เป็น 5 ด้าน 1. เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง โต้ได้ว่าคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ได้เชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกฯ นายปรีดีเป็นนายกฯ ช่วงสั้นๆ เป็นรัฐมนตรีบ้าง หากมักใหญ่เมื่อยึดอำนาจต้องเป็นนายกฯ เอง

2.ชิงสุกก่อนห่าม ตอบโต้ได้ว่ากระแสความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อร.ศ.103 สมัยรัชกาลที่ 6 กบฏรศ.130 พอถึงสมัยรัชกาลที่ 7 คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองขอให้กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย แนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีมานานแล้ว

3.ตัดหน้า แย่งเครดิตรัชกาลที่ 7 ที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว หากข้อนี้จริงก็จะขัดกับข้อที่ 2 เพราะเท่ากับสังคมขณะนั้นสมควรแล้วที่ต้องเป็นประชาธิปไตย หากฝ่ายสนับสนุนระบบเจ้าขุนมูลนายต้องการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยทำไมไม่ห้ามกบฏบวรเดช

4.เป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเค้าโครงร่างเศรษฐกิจของเขาเคยลี้ภัยไปจีน แต่สิ่งที่เป็นโซเวียตโมเดลคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ซึ่งไม่เคยได้ยินใครบอกว่าสภาพัฒน์คือคอมมิวนิสต์

อีกทั้งเนื้อหาเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี ก็เป็นรายละเอียดด้านการพัฒนา ให้ประชาชนมีการศึกษา มีงานทำ การลี้ภัยทางการเมืองไปจีน ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ว่าคอมมิวนิสต์จะชนะก๊กมินตั๋ง หากแค่ถ่ายรูปกับเหมา เจ๋อ ตุง แล้วเป็นคอมมิวนิสต์ นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกฯ ก็เป็นเช่นกัน

5.ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ซึ่งกลายเป็นข้อกล่าวหาที่ฉกรรจ์มาก แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดแล้ว สรุปใช่หรือไม่ ขอท้าให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้

การโจมตีนายปรีดี ในงานวิชาการเรียกว่าเป็นความพยายามฟื้นฟูระบบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งโจทย์การสร้างประชาธิปไตยยังไม่ถูกแก้

การทำลายประชาธิปไตยยังคงใช้พละกำลังและยุทธวิธีเหมือนเดิมเช่น ในพ.ศ.2490 ก็มีพรรคการเมืองที่ทำลายประชาธิปไตย ใช้ ส.ส.อภิปราย 8 คืน 8 วัน กล่าวหาสารพัดจนรัฐบาลซวนเซ เสียเครดิต ปูทางให้เกิดรัฐประหาร

ลูกเล่นนี้เหมือนเดิมในปี 2557 เพียงไม่ได้มีแต่ในรัฐสภาเท่านั้น เพราะสภาพทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปเป็นการเมืองมวลชน จึงใช้มวลชนบั่นทอนทำลายรัฐบาล เชื่อว่าแท็กติกนี้จะถูกใช้ต่อไปอีกอาจแตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย

14 ต.ค. 16 อาจารย์ปรีดีเขียนหนังสือเล่มหนึ่งระบุว่าจงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ ข้อความนี้สำคัญมาก หมายถึงเมื่อชนะแล้วต้องพิทักษ์ไว้ คณะราษฎรดันไปเอาพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นนายกฯ ส่วนเจตนารมณ์คือ ความมุ่งมั่นในความปรารถนาประชาธิปไตย มันอยู่กับเรา วันหนึ่งเราจะเป็นประชาธิปไตย

ผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย ตราบใดที่ยังมีความพยายามรื้อฟื้นระบอบเจ้าขุนมูลนาย ตราบนั้นนายปรีดี ก็จะยังมีความหมายกับสังคมไทย

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

สังคมเราพูดถึงวันที่ 27 มิ.ย.น้อยเกินไป ทั้งที่เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย นายปรีดีร่างขึ้นเพื่อให้เป็นฉบับถาวร แต่รัชกาลที่ 7 เห็นว่าควรเป็นฉบับชั่วคราวก่อนประกาศใช้

สิ่งสำคัญกว่าเนื้อหาคือ คำปรารภ เพราะเป็นรอยต่อระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรขอร้องให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพื่อการพัฒนาของชาติและทรงยอมรับตามคำร้อง เป็นที่มาของมาตรา 1 อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในยุโรปมีการยกเลิกระบอบกษัตริย์หลายประเทศ ประเทศที่ยังมีกษัตริย์อยู่เพราะมีการปฏิรูปให้กษัตริย์สามารถอยู่กับรัฐธรรมนูญ นำหลัก The king can do no wrong พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการรับผิดทางการเมืองมาใช้ ซึ่งคือการปกป้องพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญประเทศไหนเกิดก่อนก็ไปก่อน อังกฤษเริ่มปกครองที่มีกติกาเป็นครั้งแรกเมื่อ 800 ปีที่แล้ว นับจากกฎบัตรแมคนา คาร์ตา กระทั่งมีสภาสูง สภาล่าง

หากใครท้อถอยในประชาธิปไตยไทยขอให้ดูฝรั่งเศสที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่กว่า 150 ปี แล้วเกิดการฆ่ากันหลายหน ซึ่งนานกว่าของไทยมาก

ส่วนสหรัฐมีประชาธิปไตยมา 200 ปี แต่ปัจจุบันก็ได้คนแบบ โดนัลด์ ทรัมป์

ประเด็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่นายปรีดีพูดถึงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ความแตกต่างทางแนวคิดทางเศรษฐกิจของลัทธิมาร์ก กับนายปรีดี คือ ความเสมอภาคของระบอบประชาธิปไตย คนทำมากได้มาก คนทำน้อยได้น้อย

เป้าหมายนายปรีดี มุ่งไปที่โอกาสในการเป็นเจ้าของที่ดิน น่าเสียดายที่นายปรีดีก้าวหน้าเกินไปในตอนนั้น

ประชาธิปไตยจะก้าวหน้าได้ ประชาชนต้องเป็นพลเมือง มีความรับผิดชอบต่อประชาชน สิ่งที่จะช่วยคือการศึกษา

วันที่ 27 มิ.ย. 2476 จึงก่อตั้ง ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการทำเพื่อประชาชนไม่ใช่คณะราษฎรเอง และหลังจากนั้นก็เกิด ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล ม.ศิลปากร ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น นี่คือผลของการเปลี่ยนแปลง

นายปรีดียอมรับว่าตัวเองผิดพลาด พูดไว้ว่าตอนข้าพเจ้ามีอำนาจก็ไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อมีประสบการณ์แล้วข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ

เราเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จในวันข้างหน้าได้

เรื่องนี้คนเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ นับจากการนองเลือดที่ราชประสงค์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน