คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ถึงที่สุด คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ก็ยังยืนยันที่จะคงสัดส่วนของข้าราชการระดับสูงเอาไว้ในสภาวิชาชีพสื่อ ตามร่างกฎหมายที่เสนอขึ้นมาใหม่

ในขณะที่ตัวแทนวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะเข้าเจรจากับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งยืนยันที่จะไม่รับร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งฉบับ ไม่เฉพาะแต่ประเด็นว่าจะมีตัวแทนราชการในสภาวิชาชีพหรือไม่

เพราะเหตุผลหลักในการคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐจะเข้ามาควบคุมการทำงานของสื่อได้มากน้อยเพียงใด

แต่อยู่ที่รัฐไม่ควรมีอำนาจเหนือสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

ยิ่งหากมองในภาพกว้าง ร่างกฎหมายควบคุมสื่อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามในการเข้ามา “กำกับดูแล” สังคมโดยคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเชื่อมั่นว่าตนเองมีสติปัญญาดีกว่า และมีจริยะเหนือกว่าประชาชนทั่วไป

ไม่ผิดกันกับร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ ที่มุ่งควบคุมช่องทางการติดต่อสื่อสารของประชาชนเป็นหลัก มากกว่าการช่วยเหลือ-พัฒนาในเครื่องมือโทรคมนาคมสมัยใหม่ เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากยิ่งขึ้น

และไม่ผิดกันกับเนื้อหาบางส่วนของรัฐ ธรรมนูญ ที่ตีกรอบฝ่ายการเมือง

ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของ “กลุ่ม คนดี” ที่มีอำนาจปกครองในปัจจุบัน

ฉะนั้น หากสื่อทั้งหลายจะรวมตัวกันออกมาคัดค้านกฎหมายควบคุมสื่อ ก็จะต้องแสดงจุดยืนท่าทีไม่รับกฎหมายหรือกติกาอื่นๆ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และจะต้องเข้าใจว่า การที่คนนอกวงการสื่อสารมวลชนจำนวนไม่น้อย เข้าร่วมการคัดค้านกฎหมายควบคุมสื่อนั้น มิใช่เพราะเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล หรือมีมิตรไมตรีกับสื่อเป็นการส่วนตัว

แต่เพราะโดยหลักการว่า รัฐกำลังเดินข้ามเส้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน และฉุดดึงสังคมไทยให้ล้าหลังจากโลกที่ก้าวไปข้างหน้า

สื่อจึงพึงมีบทบาทในการทักท้วงทัดทานรัฐ ด้วยหลักการและเหตุผล

มากกว่าเพียงต่อต้านกฎหมายควบคุมสื่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน