ไม่ว่าท่าทีของ “คสช.” ที่ปราม น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล มิให้เคลื่อนไหวในวาระ 7 ปี การตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล จะเป็นการ ตัดสินใจระดับใด

แต่เด่นชัดว่า เรื่องนี้มี “ปัญหา”
ทั้งๆที่การปรามผ่านแถลงของ”โฆษก”จะมีเป้าหมายเพื่อมิให้มีการขยับและขับเคลื่อนใดๆทั้งสิ้น
นั่นก็คือ ต้องการให้เรื่อง”จบ”
ถามว่าเมื่อถึงวันที่ 13 พฤษภาคม อันเป็นวันที่มีการลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ครบรอบปีที่ 7 เรื่องนี้จบตามความต้องการหรือไม่
ตอบได้เลยว่า ไม่จบ
แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 จำนวน 1 กองร้อยนำแผงเหล็กไปกั้น แต่เจตจำนงของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ก็ยังดำเนินต่อไป
ที่สำคัญ คือ เป็น”ข่าว”อย่างไม่ขาดสาย

สำนวนไทยโบราณเตือนไว้นานนมกาเลแล้วว่า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
คสช.อาจระบุว่า อนุญาตให้เพียง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล
แต่ถามว่า เรื่องซึ่งควร “เงียบ” สามารถเงียบตามความต้อง การของคสช.หรือไม่
ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นข่าวในลักษณะต่อเนื่อง
เริ่มจากข่าวที่ว่าคสช.แถลงไม่ยอมให้มีการนำดอกไม้ไปวางหรือจุดเทียน เพราะเห็นว่าเป็นการเมือง
ตามมาด้วยการถือช่อดอกไม้ไปยังจุดเกิดเหตุ
จากนั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ปรากฏขึ้นอย่างคึกคักโดยที่คสช.มิอาจห้ามอะไรได้

จุดอ่อนและมีลักษณะบานปลายเป็นอย่างมากก็คือ ทำให้คสช.กลายเป็นคู่กรณีกับการตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล
โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล เป็น”ตัวแทน”
ความพยายามที่จะยุติกรณีการตายเอาไว้เพียงเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ก็โยงมายังเดือนพฤษภาคม 2560 โดยอัตโนมัติ
คสช.จึงกลายเป็น “คู่ขัดแย้ง”
แสงแห่งสปอตไลต์ย่อมฉายจับไปยัง “คสช.”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน