อย่าหงุดหงิด

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

อย่าหงุดหงิด – ระหว่างที่สถานการณ์และปัญหาต่างๆ มีผลกระทบทางการเมือง บีบคั้นให้เกิดข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ปฏิกิริยาหนึ่งที่สมาชิกรัฐบาลไม่ควรแสดงออกคือความหงุดหงิด

การแสดงความหงุดหงิดรำคาญใจนอกจากไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ยังทำให้บรรยากาศตึงเครียดหนักขึ้นไปอีก และอาจส่งผลกระทบต่อการเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน

สถานการณ์ที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดำเนินมาพักใหญ่ มีทั้งกระทบโดยตรง ได้แก่ ภัยแล้ง ที่เกษตรกรเผชิญความเดือดร้อนมากที่สุด

ตามด้วย ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล

ส่วนอุปสรรคที่กระทบโดยอ้อมมาถึงภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เกิดการหยุดชะงักด้านการท่องเที่ยวส่วนสำคัญ

รวมถึงเรื่องปัญหาเสียบบัตรแทนกันของส.ส.พรรครัฐบาล ทำให้ร่างกฎหมายติดค้างอยู่และส่งผลให้เงินงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ยังไม่ไหลเข้าสู่ระบบ

ปัญหาและอุปสรรคท้าทายต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในช่วงเวลานี้ ทำให้รัฐบาลต้องคอยตอบคำถามทั้งการรับมือปัจจุบัน การวางแผนรับผลกระทบในอนาคต ไปจนถึงประเด็นดราม่าข่าวลือต่างๆ

การตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้ หากมีข้อมูลและแผนงานที่ชัดเจน ไม่หงุดหงิด จะช่วยทำให้ประชาชนคลายความกังวล และทำให้บรรยากาศสำหรับการแก้ไขปัญหาดำเนินไปได้ดีขึ้น

ปัญหาจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดมักเกิดขึ้นเสมอ อย่างในอดีตมีทั้ง ไวรัสโคโรนา โรคซาร์ส ระบาดเมื่อปี 2546 จากนั้นมีเชื้อไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 ระบาดเมื่อปี 2547 และเหตุสึนามิซัดถล่มพื้นที่รอบมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงไทย ปลายปี 2547

ช่วงเวลาบีบคั้นดังกล่าวรัฐบาลต้องเผชิญกับความกดดันที่คล้ายคลึงกับช่วงเวลานี้ เพราะทั้งเชื้อโรคและภัยพิบัติเป็นสถานการณ์อันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนได้

เมื่อรัฐบาลอธิบายและชี้แจงการจัดระบบรับมือสถานการณ์อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย จึงทำให้ประชาชนร่วมมือและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพ

หากตัวอย่างในอดีต มีจุดใดเป็นประโยชน์ก็ควรนำมาปรับใช้ในปัจจุบัน ไม่ควรหงุดหงิดให้เปลืองเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน