บทบรรณาธิการ

เมื่อเข้าสู่ช่วงการเปิดภาคเรียนของเหล่านักเรียนในเวลานี้ มีการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจด้วยว่า ปีนี้เป็นปีที่ผู้ปกครองจะใช้จ่ายจนเงินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์ จนเป็นข้อสังเกตว่า สภาพการณ์นี้จะสะท้อนว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้หรือไม่

การประเมินดังกล่าวจัดโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายเงินรวม 50,196.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14 เมื่อเทียบกับปีก่อน

เป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อปี 2553 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา

แต่ที่น่าเห็นใจคือจำนวนผู้ปกครองที่มีความสามารถใช้จ่ายค่าเปิดเทอมได้โดยไม่เดือดร้อนนั้นน้อยกว่าครึ่ง อยู่ที่ระดับร้อยละ 46.9

รายละเอียดประกอบการวิเคราะห์ครั้งนี้ แม้สรุปว่าการที่เงินสะพัดในปริมาณสูงเพราะผู้ปกครองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีหนี้สินลดลง จึงซื้อสินค้ามากขึ้น

แต่การที่ราคาสินค้าสำหรับการเรียนต่างๆ แพงขึ้น ทั้งค่าเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน จึงหมายความว่า ผู้ปกครองต้องพยายามซื้อในจำนวนเท่าเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เฉลี่ยคนละ 12,295.7 บาท

โดยเฉพาะค่าเล่าเรียน ค่าหน่วยกิต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงที่สุด แต่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การสำรวจชิ้นนี้ยังมีรายละเอียดในส่วนผู้ปกครองที่ไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมว่า วิธีที่นิยมใช้มากที่สุด หรือร้อยละ 53.1 คือจะใช้บริการโรงรับจำนำ

รองลงมาคือ กู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ ขอยืมญาติพี่น้อง เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ก่อน ไปจนถึงการเสี่ยงโชค และการใช้ของเดิมที่มีอยู่

การที่เงินสะพัดช่วงเปิดเทอมเป็นประวัติการณ์นี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาในทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายรายได้ และช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

การค้นหาคำตอบนี้เพื่อให้รับรู้สภาพความเป็นจริงได้มากที่สุด มิใช่เรื่องดิสเครดิตหรือบั่นทอนกำลังใจใดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน