บทบรรณาธิการ

วันนี้ เป็นวาระครบรอบ 40 ปี วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เหตุการณ์ที่โหดร้าย ป่าเถื่อน ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงที่สุด

ทั้งกับผู้ที่ถูกจับกุมและศพผู้เสียชีวิต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง

ก่อนหน้านั้น มีการปลุกระดมเร่งเร้าให้เกิดความเกลียดชัง ลดทอนความเป็นมนุษย์ นำมาสู่เหตุการณ์ที่น่าอดสู

ศพถูกแขวนคอ ฟาดด้วยเก้าอี้ บางศพถูกตอกลิ่ม และถูกเผากลางแจ้ง ท่ามกลางความสะใจของมวลชนที่รายล้อมอยู่

แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการสอบสวนให้ชัดเจนได้บทสรุปว่าสาเหตุเกิดเพราะอะไร ใครอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งจากภาพถ่าย สารคดีข่าว ภาพเคลื่อนไหว และสื่ออื่นๆ

เป็นรอยแผลเป็นทางประวัติศาสตร์

ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยอิสระและผู้สร้างภาพยนตร์ สารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและให้ภาพรวมว่าในจำนวนผู้เสียชีวิต 45 คน เป็นนักศึกษา 40 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน

ในจำนวนนี้ ทราบชื่อจำนวน 30 คน เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ 3 คน หญิงที่ทราบชื่อ 4 คน ศพที่ถูกเผาและไม่ทราบเพศแน่ชัดอีก 4 คน มีผู้ที่ตายอายุต่ำสุด 17 ปี

ภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิต พบว่ามาจากทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตก เป็นภาคใต้มากที่สุด ส่วนสถาบันการศึกษาของผู้ที่เสียชีวิตนั้นมาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ มหิดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และโรงเรียนเพาะช่าง

สาเหตุที่ตายถูกระเบิด กระสุนปืน จมน้ำ ถูกแทง และถูกรัดคอ

ครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคมในวันนี้ นอกจากจะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล พบปะกันในหมู่ญาติมิตรที่อยู่ในเหตุการณ์ และญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งจัดเป็นปกติประจำทุกปี อยู่แล้ว

สิ่งที่น่าชื่นชมยินดีอีกอย่าง ก็คือในปีนี้มีการจัดงานรำลึก เล่าเหตุการณ์ ฉายภาพอันโหดร้าย ย้อนรอยความทรงจำ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป

รวมถึงแนวคิดที่จะรวบรวมจัดเก็บข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับคนตาย รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อศึกษาและเรียนรู้

เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ที่ ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมในเหตุการณ์ ดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน