ผู้ไม่ไว้วางใจ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ผู้ไม่ไว้วางใจ – การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปของสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 6 คน เป็นขั้นตอนสำคัญหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย

เพราะผู้แทนจะได้สะท้อนเสียงประชาชนทั่วไป หรืออย่างน้อยคือประชาชนที่มีส่วนร่วมทางการเมือง เมื่อการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ปีที่แล้วว่าคิดเห็นอย่างไรต่อการทำงานของรัฐบาล

หลังจากเห็นผลงานและวิธีบริหารจัดการของรัฐบาลมาพักใหญ่ เช่นเดียวกับการสำรวจตรวจสอบของฝ่ายค้าน

เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นการแจกแจงผลการวิเคราะห์ผ่านการวิจารณ์ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดถึงไม่ไว้วางใจให้บริหารประเทศ

หากพิจารณาผู้ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปราย ได้แก่ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองนายกฯ 2 คน คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ

รัฐมนตรีอีก 3 คน ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

ทั้งหมดกำกับดูแลงานใหญ่และกระทรวงใหญ่ แต่ไม่มีบทบาทเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาหลักของประเทศ

ส่วนที่ชัดเจนคือเป็นบุคคลที่สืบทอดการทำงานมาจากรัฐบาลคสช. และช่วงเวลารัฐประหาร

การเปิดอภิปรายครั้งนี้จึงน่าจะตอกย้ำที่จุดเดิมว่า การเมืองเป็นตัวกำหนดหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ผู้นำฝ่ายค้านออกตัวว่า ไม่ได้หวังว่าจะคว่ำรัฐบาลในสภา เพราะสุดท้ายแล้วการไม่ไว้วางใจรัฐบาลต้องให้ประชาชนตัดสิน

แม้คณะทำงานรัฐบาลเรียกร้องให้ฝ่ายค้านมุ่งอภิปรายเนื้อหาของรัฐบาลช่วงเวลาปัจจุบัน ไม่ย้อนไปสมัยคสช. แต่ฝ่ายค้านดูจะต้องการเน้นว่าปัญหาใหญ่ ทั้งภัยแล้ง ฝุ่น สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เป็นผลจากการไม่เตรียมพร้อม ขาดวิสัยทัศน์ และตัดสินใจผิดพลาดมายาวนาน

เช่นเดียวกับคุณสมบัติการเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดแบบไร้รอยต่อมาจากการเป็น หัวหน้าคสช.

การยืนยันคุณสมบัติด้านดีของรัฐบาล กับการชี้ให้เห็นจุดด้อยของรัฐบาลโดยฝ่ายค้าน เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายย่อมมุ่งมั่น

ส่วนผู้ที่ตัดสินไม่ไว้วางใจคือประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน