คอลัมน์ รายงานพิเศษ

การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ล่าช้านำมาสู่ประเด็นถกเถียงเรื่องที่มากรรมการสรรหาองค์กรอิสระ

ถึงกับมีการเปรียบเปรยว่ารัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระไว้สูงระดับเทพแล้ว ที่มากรรมการสรรหาองค์กรอิสระยิ่งเหนือเทพ

พร้อมข้อสงสัยที่ว่าเป็นการล็อกสเป๊กปูทางเพื่อใครหรือไม่

มีความเห็นจากนักวิชาการ กรรมการ-อดีตกรรมการองค์กรอิสระ และอดีตผู้พิพากษา

1.โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

ส่วนตัวไม่ได้มองว่าคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเป็นปัญหา แต่มองเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามากกว่า เพราะจากระบบการเลือกสรร หรือคัดเลือกคณะกรรมการที่จะเข้ามาทำหน้าที่สรรหาองค์กรอิสระนั้น ส่วนใหญ่บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหาก็มักจะอยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

พูดง่ายๆ คือบุคคลเหล่านี้มักหนีไม่พ้นพวกที่อยู่ในคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระด้วยกันเอง เป็นพรรคพวกหรือกลุ่มก้อนเดียวกัน

ที่ผ่านมา มักให้คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งมาสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งมองว่าไม่ค่อยจะเหมาะสม เพราะแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ต้องมองว่าองค์กรอิสระนั้นๆ มีหน้าที่อะไร ทำหน้าที่อย่างไร ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาแต่ละองค์กรไม่ควรจะเหมือนกัน

ขอยกตัวอย่างในสิ่งที่คุ้นเคย เช่น องค์ประกอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องการบุคคลที่มีความรู้ด้านการบริหารจัดการการเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจในด้านการสืบสวนสอบสวนในกรณีที่มีการละเมิด หรือกระทำการขัดกฎหมายเลือกตั้ง

หรือต้องเป็นบุคคลที่มาจากภาคประชาชนเพื่อดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องของการเลือกตั้ง หรือต้องเป็นบุคคลที่มีจิตอาสาในเรื่องของประชาธิปไตย หรือต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการเลือกตั้งในภาพรวม

หรือในกรณีที่ต้องเข้ามาช่วยสรรหาในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บุคคลนั้นๆ ก็ควรต้องมีประสบการณ์ในส่วนของ ส.ว.ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หากวิเคราะห์หน้าที่ของแต่ละองค์กรแล้วคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระจำเป็นต้องมีความคุ้นเคยกับองค์กรนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้คณะกรรมการสรรหาแต่งชุดสูทเดียวกันทั้งหมด และทำหน้าที่เหมือนกันทั้งหมด

นอกเหนือไปจากคนที่เกษียณอายุราชการ เป็นอดีตข้าราชการที่จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาได้แล้ว เข้าใจว่าคงไม่ได้ปิดกั้นคนที่อยู่ในภาคธุรกิจหรือภาคเอกชน เพราะหากจะเข้ามาทำหน้าที่นี้ก็ต้องวางมือและลาออกจากการดำรงตำแหน่งในภาคธุรกิจ

ส่วนตัวมองว่าคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาค่อนข้างจะจำกัด แต่เมื่อผู้เขียนกติกากำหนดแล้วก็ต้องรอดูว่าจะบรรลุตามเป้าประสงค์หรือไม่ เชื่อว่าคนที่เขียนกติกาคงต้องมั่นใจว่าสามารถสรรหาบุคคลได้ตามคุณสมบัติดังกล่าว

แต่สุดท้ายเรื่องทั้งหมดพูดกันไปก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเรื่องดังกล่าวถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญไปแล้ว

2.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตป.ป.ช. และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญการได้มาซึ่งกรรมการสรรหาองค์กรอิสระคงไม่ยากแต่เมื่อได้มาแล้วจะได้บุคคลจากหลายด้านหรือไม่ตรงนี้น่าคิด

กรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาจากองค์กรอิสระอื่นด้วยไม่ใช่องค์กรอิสระที่จะสรรหาเท่านั้น เช่น ถ้าจะสรรหากรรมการป.ป.ช.ก็ต้องไม่มาจากป.ป.ช. ถือเป็นการเปิดกว้างเพื่อให้ได้คนจากอาชีพอื่น แต่ต้องทำความเข้าใจลักษณะงานที่จะเลือก ให้ดี

หากเจาะจงลงไปที่กรรมการสรรหาป.ป.ช. ส่วนตัวไม่อยากให้สายผู้พิพากษา ตุลาการ ที่ยังดำรงตำแหน่งมาเกี่ยวข้องเพราะเวลามีเรื่องมีราวกล่าวหาฟ้องร้องคนในองค์กรอิสระแล้วบุคคลเหล่านี้จะอยู่ในส่วนที่ต้องพิจารณาคดีนั้นๆ ด้วย

จึงมีการถามว่าแล้วจะทำอย่างไรหากต้องการได้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีความรู้ทางกฎหมาย ขอเสนอว่าทำไมไม่เชิญอดีตประธานศาลฎีกา อดีตประธานศาลปกครอง อดีตรองประธานศาลฯ เพราะบุคคลเหล่านี้มีหลายคนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ทรงคุณธรรมที่ได้รับความเคารพนับถือของสังคม

ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเป็นสเป๊กเหนือกว่าระดับเทพนั้นพูดถูก ดังนั้น คนที่เลือกสำคัญกว่าเพราะเมื่อคนที่เลือกดีมีความเกาะเกี่ยวกับประชาชน เป็นคนที่สังคมเคารพนับถือ คนคนนั้นก็ย่อมเลือกคนดีเข้ามาก็จะได้กรรมการองค์กรอิสระที่ดี

3.สดศรี สัตยธรรม

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เรามีคนที่เป็นมันสมองของประเทศจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกษียณแล้ว คนอายุ 60 ในปัจจุบันแข็งแรงทั้งสมองและร่างกาย มีประสบการณ์ในทุกองค์กร เป็นทหารก็ผ่านประสบการณ์มามาก เป็นพลเรือนก็เป็นข้าราชการระดับสูง คงมีเวลาเป็นกรรมการสรรหาได้

และไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะให้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนดเข้ามา

เช่น กกต.รุ่น 1 ก็ยังมีความสามารถ แข็งแรง เชิญมาเป็นกรรมการสรรหาได้ หรืออาจมาจากหน่วยงานอื่นมาเป็นกรรมการสรรหาในหน่วยงานที่ตัวเองไม่ได้อยู่ แต่เป็นงานที่คล้ายคลึงกันได้หรือไม่

รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้ชัด หรือน่าจะสลับกันได้ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจไปเป็นกรรมการสรรหาป.ป.ช.

แต่น่าสงสัยว่ากำหนดอายุไม่เกิน 68 ปีทำไม น่าเชื่อว่ามีตัวเต็งแล้วหรือไม่ ถ้ามีความเห็นจากแพทย์ว่าคน 69 ปีแล้ว สมองใช้ไม่ได้ก็ว่าไปอย่าง

กำหนดอายุไว้อย่างนี้เพื่ออะไร มีคนที่หมายตาว่าจะเอามาเป็นกรรมการสรรหาแล้วใช่หรือไม่

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้ การชี้ขาดของกรรมการสรรหามีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่าตั้งธงเอาไว้เพราะยิ่งตั้งธงยิ่งชี้ให้เห็นว่ามีจุดมุ่งหมายอะไร

เงื่อนไขเช่นนี้มีแต่กลุ่มทหารที่เข้าคุณสมบัติหรือไม่ และยิ่งล็อกคุณสมบัติมากเท่าไรก็จะถูกมองว่ามีตัวไว้แล้ว การล็อกคุณสมบัติก็เหมือนการประมูลงาน ยิ่งระบุคุณสมบัติบางอย่างมากผู้เข้ามาประมูลก็เหลือไม่กี่บริษัท

ควรทำเป็นแบบเลือกตั้งหรือไม่ มีการเลือกผู้สมัครโดยผ่านประชาชน และถ้าเลือกแล้วมีผู้ไม่เห็นด้วยยื่นต่อศาลปกครองได้ หรือไม่

เห็นด้วยกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าคุณสมบัติของกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเหนือกว่าเทพ เพราะแค่ที่มาองค์การอิสระก็ยังกำหนดไว้สูงมาก

ดังนั้น ยิ่งกำหนดคุณสมบัติกรรมการสรรหาสูงคนที่จะเข้ามาได้ก็คงจะน้อยลง และกำหนดอายุอีกยิ่งเป็นการตีกันไม่ให้เข้ามาก็ยิ่งเทพ เรียกชั้นพรหม

4.อังคณา นีละไพจิตร

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสรรหาองค์กรอิสระที่หลายคนมองว่ากำหนดสเป๊กที่สูงจนเกินไป

ส่วนตัวมองแบบเดียวกัน เพราะเท่าที่ดูการกำหนดคุณสมบัติ เชื่อว่าการจะได้บุคคลมาทำหน้าที่กรรมการสรรหาองค์กรอิสระจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะระบุคุณสมบัติค่อนข้างละเอียดจนอาจได้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น

แน่นอนว่าการกำหนดคุณสมบัติเช่นนี้จะไม่สามารถได้กรรมการสรรหาที่มีความหลากหลาย เป็นการกีดกันภาคประชาชนหรือปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมือนไปตัดสิทธิ์เขา ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นมีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติงานได้

เมื่อกำหนดคุณสมบัติตั้งสเป๊กไว้สูง โอกาสที่คนมีความรู้ความสามารถเหล่านี้จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระก็ไม่มี

ยกตัวอย่างปัญหาที่เห็นได้ชัดตอนนี้ คือการหากรรมการสรรหาของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นตัวอย่างการกำหนดคุณสมบัติที่เคร่งครัดเกินไป ทำให้ได้กรรมการสรรหายากมาก

อยากเห็นกรรมการสรรหาที่กว้างขวาง มาจากหลากหลายภาคส่วน เพราะหากเจาะจงก็ดูว่าจะมีคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนได้ค่อนข้างยาก

ส่วนตัวเห็นว่าควรให้คนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เข้ามาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ เว้นแต่กสม.ที่กรรมการสรรหาจะแตกต่างจากองค์กรอื่น เพราะต้องมีความรู้ด้านสิทธิ มนุษยชน แต่องค์กรอื่นจะเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคืออยากเห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้ได้เข้าไปทำหน้าที่บ้าง หากกำหนดในคุณสมบัติว่าห้ามดำรงตำแหน่งต่างๆ ไว้มาก โดยธรรมชาติทุกคนมีสถานะทั้งนั้น คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ย่อมมีบทบาทหน้าที่ในองค์กรต่างๆ ซึ่งก็จะหมดสิทธิ์เป็นกรรมการสรรหา

การกำหนดคุณสมบัติกรรมการสรรหาไว้ค่อนข้างสูง ข้อดีคงมองได้ในเรื่องการป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจะได้ไม่มี คอนเน็กชั่น แต่ต้องไม่ลืมว่าการเรียนหลักสูตรชั้นสูงต่างๆ ก็เป็นการหาคอนเน็กชั่น

ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปไม่มีโอกาสได้เรียนหลักสูตรแบบนั้น ก็ไม่มีคอนเน็กชั่น และไม่มีโอกาสจะเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน