คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สรุปยอดการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐหรือขึ้นทะเบียนคนจน ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 3 เม.ย.-15 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียนประมาณ 14 ล้านคน จากปีที่แล้วจำนวน 8.3 ล้านคน

ข้อมูลเบื้องต้นจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 7.55 ล้านคน ธนาคารออมสิน 3.6 ล้านคน ธนาคารกรุงไทย 2.34 ล้านคน ส่วนที่เหลือจากสำนักงานคลังจังหวัด และสำนักงานเขตต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร

หลังจากนี้จะนำข้อมูลที่เปิดให้ลงทะเบียนนอกพื้นที่ หรือลงทะเบียนผ่านเอกสาร เพื่อสรุปยอดส่งให้กระทรวงการคลัง

โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะลงทะเบียน ต้องเป็นผู้ว่างงาน อายุตั้งแต่ 18 ปี มีรายได้ปีละไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม การเปิดลงทะเบียนครั้งนี้ มีข้อสังเกตว่ามากกว่าครึ่งเป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน

สำหรับการจัดสรรสวัสดิการให้นั้น กระทรวงการคลังคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้สิทธิประโยชน์ในการใช้บริการพื้นฐานรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี สวัสดิการเกี่ยวกับค่าน้ำและค่าไฟฟ้า

ส่วนโครงการอื่นๆ เช่น ค่าแก๊สหุงต้ม ส่วนลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รถไฟฟ้า รถทัวร์ระหว่างจังหวัด รวมถึงวงเงินใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐนั้น จะพิจารณาจากจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์และงบประมาณต่อไป

ยังไม่แน่ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่

ต้องยอมรับว่าตัวเลขของคนจนเกือบ 14 ล้านที่ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการครั้งนี้ ถือว่ามีจำนวนมากกว่าที่เคยประมาณการไว้ว่าคนไทยที่ยากไร้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8-9 ล้านคนทั่วประเทศ

การที่คนจนมาลงทะเบียนมากมายมหาศาลครั้งนี้ รัฐบาลพึงระมัดระวังอย่าเพิ่งตีขลุมเอาเองว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นอยากพึ่งพิง แต่ต้องวิเคราะห์ด้วยว่าสาเหตุที่ยากจนเพิ่ม ว่างงานพุ่ง และรายได้หดนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร

การแจกเงิน หรือมอบสวัสดิการต่างๆ นั้น ต้องไม่ทำแบบสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือคนอนาถาตกทุกข์ได้ยากอย่างที่ราชการนำไปให้ แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต และพึ่งพาตัวเองได้ต่อไป

รวมทั้งไม่ฉกฉวยนำเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน