คอลัมน์ -ข่าวสดหลากหลาย

เมื่อ 7 ปีที่แล้วบริเวณใจกลางเมืองหลวง ที่มีตึกสูงระฟ้า เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารสลายการกลุ่ม ผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ความรุนแรงทอดยาวตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 จนถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 99 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะรักหรือชัง การชุมนุมทางการเมืองไม่สมควรมีใครต้องมาสูญเสียชีวิต

อีกทั้งเมื่อความตายเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ เร่งสะสาง สืบสวนสอบสวน เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ทั้งผู้ที่สั่งการและผู้ปฏิบัติหน้าที่

แต่ทว่าผ่านมา 7 ปี ความตายยังเป็นความจริงหนึ่งเดียวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนความจริงอีกด้านว่าใครเป็นผู้ทำให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก ยังคงมืดดำและเงียบงัน

ในโอกาสรำลึก 7 ปี แห่งความสูญเสีย ชีวิตของคนข้างหลังที่ยังดำรงอยู่พยายามส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งค้นหาความจริง และยังอยากได้ยินคำขอโทษจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

เริ่มจาก นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เล่าว่า ผ่านมา 7 ปีแล้วสำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น สิ่งที่เรากำลังรอคอยคือความยุติธรรม แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่ความเศร้ายังคงอยู่และถือเป็นพลังให้เราต่อสู้ เรียกร้องความยุติธรรมที่ถูกเอาผ้าดำคลุมไว้ เช่นเดียวกับบาดแผลที่เกิดขึ้นยังไม่เคยหาย เป็นเหมือนแผลที่ปิดไว้แต่ภายในยังอักเสบ

ฉะนั้น ถ้าจะทำให้แผลหายสนิท สิ่งที่รัฐบาลและกองทัพต้องทำคือสะสางให้เรื่องนี้กระจ่าง ค้นหาความจริงจากเรื่องที่เกิดขึ้น และนำผู้ที่ฆ่าและสั่งให้เกิดการฆ่ามาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

“เราไม่เคยลืมนะ มันลืมไม่ได้ จะลืมได้ก็ต่อเมื่อแผ่นดินฝังกลบหน้าเท่านั้น ไม่ใช่เพราะคดีของน้องเกด รวมถึงคนเสียชีวิตทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาในอดีตไม่เคยมีใครต้องเคยมารับผิดชอบกับการสั่งฆ่าประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองเลย เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516-2519 พฤษภาทมิฬ 2535 สลายการชุมนุม 2553 การชุมนุมม็อบ กปปส. 2556-2557 ผู้มีอำนาจพยายามกลบฝังไม่ให้รื้อฟื้นและพูดถึง อย่างปี 2553 ไม่มีใครออกมาขอโทษจากเหตุการณ์ดังกล่าวเลย ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก กลับกลายเป็นว่าคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นคนผิด อย่างการเขียนรายงานเหตุการณ์ของบางหน่วยงาน” แม่ผู้สูญเสียที่ยังรอคอยความยุติธรรมเล่าอย่างอัดอั้น

นางอุบลวดี จันทร พี่สาว นายเสน่ห์ นิลเหลือง คนขับรถแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าปั๊ม ปตท.บ่อนไก่ ปากซอยปลูกจิต 1 ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. กล่าวว่า ผ่านมา 7 ปีแล้วที่น้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่เวลาที่ผ่านมาไม่สามารถเยียวยาความเจ็บปวดจากการสูญเสียน้องชายไปได้เลย ยิ่งใกล้ถึงช่วงเวลาที่น้องชายเสียชีวิต ความรู้สึกต่างๆ ยิ่งจะย้อนกลับมา

“เมื่อใครคนหนึ่งในชีวิตเราหายไป ความรู้สึกมันไม่เคยเหมือนเดิมเลย 7 ปีมันวัดความเจ็บปวดเป็นปริมาตรไม่ได้เลย มันเป็นความเจ็บลึกๆ เพราะน้องชายเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เขากำลังจะกลับบ้าน แต่ทำไมเขาต้องมาตาย อยู่ดีๆ มายิงน้องเราทำไม”

พี่สาวผู้เสียชีวิตกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพยายามต่อสู้ โดยรวมกลุ่มกับญาติผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ไปเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนตาย ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานอัยการสูงสุด หรือแม้แต่ศาลอาญา รัชดา เราพากันไปทวงถามความยุติธรรมกันหลายครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่าทุกที่ที่เราไปไม่มีความหวังให้เรากลับมาเลย ทั้งยังไม่สามารถทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกระจ่างขึ้นมาได้เลยว่าน้องชายเรา และคนอื่นๆ เขาตายเพราะอะไร และทำไมเขาถึงต้องตาย

“ถ้ายังหายใจอยู่ยังไงก็ต้องสู้ สู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรม และสามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนผิด ใครเป็นคนสั่งการให้เกิดการฆ่า เพื่อให้คนเหล่านั้นออกมาขอโทษ และต้องได้รับโทษตามกฎหมาย” นางอุบลวดียืนยันหนักแน่น

นายสมชาย เจียมพล อายุ 63 ปี อาชีพค้าขาย บิดา นายทิพเนตร เจียมพล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เล่าว่า 7 ปีผ่านไปเรายังเสียใจเหมือนเดิมกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นไปได้เราอยากให้ลูกเรายังอยู่ เพราะเมื่อเขาจากไปได้ทิ้งหลานให้เราต้องดูแล ทำให้ชีวิตต้องอยู่อย่างยากลำบาก อายุปูนนี้แล้วต้องมาลำบากนั่งขายของทุกวัน ที่ผ่านมาเคยไปเรียกร้องดีเอสไอ เพราะอยากรู้ว่าใครเป็นคนทำให้ลูกเราเสียชีวิต แต่ผ่านมา 7 ปีทุกอย่างกลับว่างเปล่า วันนี้ญาติทุกคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังรอคอยความยุติธรรมกันอยู่ว่าเมื่อไหร่จะได้รู้ความจริงเสียที

“เสียความรู้สึกที่รัฐบาลสลายการชุมนุมแล้วไม่รับผิดชอบ 7 ปีที่ผ่านมาคดีความไม่มีความคืบหน้า มันเงียบสนิทไปหมดเลย อยากจะฝากให้รัฐบาลชุดนี้ใช้มาตรา 44 เร่งรัด เรื่องคดีความให้เราได้ไหม อยากจะรู้ว่าคดีความที่เกิดขึ้นไปถึงไหนแล้ว อยากรู้ใครผิดใครถูก หาตัวฆาตกรมาลงโทษ อยากรู้ว่าใครเป็นคนทำลูกเรา ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นผู้ชุมนุม อีกทั้งอยากขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ออกมาขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะมาจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครออกมาขอโทษเราสักคำ” บิดาผู้สูญเสียกล่าวเรียกร้อง

นางธัญพร นกแจ้ง อายุ 52 ปี อาชีพแม่ค้า พี่สาว นายปรัชญา แซ่โค้ว ที่ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างไปส่งแฟนสาวที่บริเวณราชปรารภ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ที่ยังคงรอความยุติธรรมไม่ต่างกับญาติทุกคน

“อยากขอความเป็นธรรม 7 ปีมาแล้วยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลย ทั้งที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เพียงผ่านไปแถวนั้น มันเสียความรู้สึกมาก เราอยากได้ความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้เสียชีวิตทุกๆ คน แต่รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเพื่อพวกเราเลย 7 ปีนี้นานมากสำหรับการรอคอยความยุติธรรม สำหรับญาติผู้สูญเสีย เรายังรอกันอยู่ว่าคดีความจะคืบหน้าไปถึงไหน

มีญาติผู้เสียชีวิตหลายคนที่อยู่ต่างจังหวัดโทร.มาถามว่ามีความคืบหน้าด้านคดีบ้างไหม พวกเขาอยากรู้ และจะมาร่วมเรียกร้อง แต่เราไม่รู้จะบอกเขายังไง จะบอกให้เขามาก็กลัวเสียเวลา เสียเงิน เพราะยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ตอนนี้ทุกคนรอความยุติธรรมให้มีความยุติธรรม และนำคนผิดมาลงโทษ

แม้ผ่านมา 7 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีคำขอโทษจากปากผู้ที่เกี่ยวข้องมาถึงเราเลย เขา(รัฐบาลในขณะนั้น) พูดคำเดียวว่าเขาไม่ได้ทำ แต่ไม่รู้ลูกปืนลอยมาจากไหนถึงทำให้น้องเราเสียชีวิต และถ้าเขาไม่ได้ทำแล้วใครเป็นคนทำ อยากจะรู้เหมือนกัน แต่ยังไงเราจะเรียกร้องความยุติธรรมให้น้องชายจนถึงที่สุด จะรวมตัวไปกับญาติๆ ทวงถามความยุติธรรม” พี่สาวผู้สูญเสียสะท้อนความในใจ

นายประพันธ์ รอดภัย น้องชาย นายเยื้อน โพธิ์ทองคำ ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณปากซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2553 กล่าวว่า 7 ปีที่ผ่านมายังคงคิดถึงพี่ชาย และอดใจหายไม่ได้

“พวกเรายังรอความยุติธรรมจากรัฐบาลนี้อยู่ มันเป็นความหวังของครอบครัวเราที่จะเห็นว่าใครต้องรับผิดชอบกับการตายของพี่ชาย เพราะเขาไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เพียงแต่เดินไปหาของกินอยู่แถวนั้น 7 ปีผ่านมาไม่มีใครออกมาขอโทษ และรับผิดชอบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเลย เรายังรออยู่ว่าอะไรเป็นอะไร”

เช่นเดียวกับ เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาว “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล กล่าวภายหลังเดินทางฝ่าตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 1 กองร้อย เข้าไปวางดอกไม้ พร้อมจุดเทียนบริเวณด้านหลังสถานีรถไฟใต้ดินสีลม ซึ่งเป็นจุดที่พ่อถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ว่า “การมาครั้งนี้เพื่อรำลึกถึงคุณพ่อ ปีหนึ่งจะมีแค่ครั้งเดียวและเป็นการจากกันโดยไม่ได้ร่ำลา จึงใช้โอกาสนี้มารำลึกถึง ไม่ได้ต้องการจัดกิจกรรมอะไร แต่อยากจะมาหาเพื่อรำลึกถึงคุณพ่อเท่านั้น หวังว่าในปีหน้าจะได้มาวางดอกไม้เพื่อนึกถึงพ่ออย่างนี้อีก”

เดียร์กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องคดีความที่ยังไม่มีอะไรคืบหน้านั้น เหลืออีก 10 กว่าปีก็จะหมดอายุ จึงอยากทวงถามถึงความคืบหน้ากับผู้ที่รับผิดชอบคดี เพราะต้องการให้หาตัวคนผิดมาลงโทษต่อไป ขอให้ใช้กฎหมายที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้กฎหมายเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง

ส่วน นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กล่าวหลังร่วมจุดเทียนรำลึกถึงการเสียชีวิตของ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ น้องเฌอ ลูกชายซึ่งถูกยิงจากเจ้าหน้าที่เสียชีวิตที่บริเวณถนนราชปรารภ ใกล้ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า พวกตนยังคงเดินหน้าเรียกร้องความคืบหน้าของคดี เพราะไม่มีความคืบหน้า การไต่สวนการตายมีหลายสาขาวิชาชีพมารวมกัน อัยการ ฝ่ายปกครอง แพทย์ ตำรวจท้องที่ แต่เมื่อเรื่องถูกกำหนดในระดับนโยบาย ทำให้คดีถูกดึงไปเรื่อย กลายเป็นเรื่องการเมือง ทำให้เห็นว่าการเมืองบ้านเราไม่ได้พัฒนา หรือจะไปคาดหวังอะไรได้

เมื่อถามว่ารัฐบาลอยากให้ทุกคนปรองดองกัน นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็ปรองดองกันไม่ได้ เราต้องจำให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องบันทึกและหาข้อมูล คนตายในเหตุการณ์ทางการเมืองเยอะแล้วมาบอกให้ลืม จะลืมได้อย่างไร ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ใครผิดก็ว่ากันตามผิด

“ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ก็คาราคาซังกัน บอกจะจัดกิจกรรมปรองดองมีเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วมาบอกให้ลืม มันจะลืมได้อย่างไร เหมือนเอาถ่านร้อนๆ ไปซุกใต้กองฟางรอวันที่มันจะลุกพึ่บขึ้นมาใหม่ มันต้องจบด้วยกระบวนการยุติธรรม” พ่อน้องเฌอกล่าวทิ้งท้าย

ให้เป็นข้อคิดที่ควรได้รับการพิจารณา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน