จากกราดยิงโคราช-สู่วิกฤตการเมือง

สัมภาษณ์พิเศษ

จากกราดยิงโคราช – นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ข่าวสด” ถึงเหตุการณ์ที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา สังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ใช้อาวุธปืนกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิต 30 ราย และบาดเจ็บ 58 ราย ที่จ.นครราชสีมา ต่อมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หลั่งน้ำตาแถลงขอโทษและแสดงความเสียใจกับเหตุที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพตามมา

เหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา มีลักษณะใกล้เคียงกับการก่อการร้าย หากเปรียบเทียบความรุนแรงที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่จ.นครราชสีมา ขาดเพียงปัจจัยเดียวคือแรงจูงใจทางการเมืองในการก่อเหตุ

หากมีแรงจูงใจทางการเมืองจะเข้าข่ายลักษณะการกราดยิงในรูปแบบก่อการร้าย แต่เผอิญสิ่งที่เห็นกลายเป็นอีกมุมหนึ่งที่ทิ้งปัญหาไว้ให้เรา เพราะกลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่มีลักษณะไม่ชอบมาพากลภายในกองทัพ โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่มีปัญหาในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้น

เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารสัญญาบัตรกับนายทหารชั้นประทวน กับระดับล่างที่เป็นพลทหาร เป็นโจทย์อีกชุดหนึ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึงในสังคมไทย

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา โจทย์เรื่องของกองทัพ เรื่องของความสัมพันธ์ในเชิงตัวบุคคล มักพูดกันในตัวบริบทของทหารเกณฑ์ เช่น มีการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ มีเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วเป็นลักษณะที่อาจจะไม่ถูกต้อ ในการใช้กำลังพลที่เป็นทหารเกณฑ์

พอมาถึงกรณีกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ตอบโจทย์อีกแบบหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชั้นสัญญาบัตรกับประทวน แล้วยังมีเรื่องการทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้น ซึ่งในลักษณะแบบนี้ต้องเอามาคิดต่อว่า ถ้าความสัมพันธ์แบบนี้กลายเป็นปัญหา และเป็นเหตุความรุนแรงที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญ

อาจจะต้องคิดต่อว่าในอนาคตทำอย่างไรที่การจัดความสัมพันธ์ของทหาร หรืออาจจะมีนัยยะของกฎหมายทหารว่า ที่จริงแล้วกฎหมายทหารมีความเข้มงวดในการกำหนดกรอบความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาบัตร ประทวน และพลทหาร แต่สิ่งที่เห็นคือการไม่ค่อยพูดถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่มีภายในกองทัพ

ถ้าเป็นแบบนี้เรื่องหนึ่งที่วันนี้กองทัพต้องกล้าตรวจสอบ และต้องกล้าที่จะสั่งยุติทั้งหมด คือการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการทำพาณิชย์ในกิจการบางอย่าง

หมายความว่าปัจจุบันกรณีนี้ตอบเราว่า มีคนบางกลุ่ม มีนายทหารบางส่วน อาศัยกองทัพเพื่อประกอบธุรกิจบางอย่าง และในการประกอบธุรกิจกรณีนี้อาจเป็นบ้านจัดสรร ซึ่งเชื่อว่าอาจจะมีกรณีอื่นๆ ในลักษณะของการใช้ผู้ใต้บังคับบัญชาในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

หากเป็นลักษณะนี้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ กองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหม อาจจะต้องเริ่มคิดว่าตกลงโครงการแบบนี้ยังมีอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้ามีอยู่ถึงวันนี้ต้องกล้าตรวจสอบ หรือถึงจุดที่ต้องกล้าสั่งยุติ พูดง่ายๆ ว่าการใช้กองทัพเพื่อหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์วันนี้ต้องจบได้แล้ว

อย่าบอกว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เหตุที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นปัญหาที่ดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ได้สะท้อนโจทย์ใหญ่มาก คือวันนี้ความสัมพันธ์ที่เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา อาจจะนำไปสู่กรณีที่เป็นเรื่องของความสูญเสียหรือนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้

ส่วนสายการบังคับบัญชา มองว่าเป็นเรื่องปกติของทหาร ที่มีการจัดลำดับตามชั้นยศ เพราะเป็นรูปแบบสากล แต่ในในแบบสากลคงต้องตระหนักว่า กองทัพไทยมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมแบบไทยๆ ซ้อนอยู่ หรือพูดง่ายๆ คือ องค์กรทหารไทยเป็นองค์กรสมัยใหม่ แต่มีวัฒนธรรมแบบเก่าของสังคมไทยทับซ้อนอยู่

วัฒนธรรมเชิงองค์กรภายในกองทัพเป็นวัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งในบริบทการใช้วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย จึงเกิดความชัดเจนเรื่องการปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์ที่เป็นคนระดับล่างของสังคม หรือการปฏิบัติกับทหารชั้นประทวน ซึ่งหลายส่วนของชั้นประทวนก็เป็นชนระดับล่าง

ดังนั้น ในลักษณะของการทับซ้อนด้วยมิติทางวัฒนธรรมแบบไทยๆ หรือที่เรียกว่า “วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายในกองทัพ” คงต้องคิดกันต่อ กองทัพไทยถูกออกแบบให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ แต่วัฒนธรรมองค์กรยังติดกับเงื่อนไขแบบเดิมๆ ของไทย

ในบริบทวัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย จะเห็นความชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาเป็นคนที่ทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ไม่ผิด และสามารถตัดสินใจได้ทุกอย่าง เท่ากับผู้บังคับบัญชามีอำนาจแบบไม่มีข้อจำกัดในหน่วย

เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุที่เกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา สะท้อนว่าวันนี้อาจจะต้องเริ่มคิดถึงการจัดความสัมพันธ์ภายในกองทัพ ที่ไม่อยู่ในลักษณะของการที่ผู้บังคับบัญชาเอารัดเอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา และต้องไม่ใช้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นฐานของการทำธุรกิจ หรือการแสวงผลประโยชน์ทางธุรกิจ เชื่อว่ามาถึงจุดนี้ต้องคิดกันใหม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้คิดใหม่

สำหรับข้อเรียกร้องการยกเลิกทหารรับใช้ ในภาพรวมตอบได้อย่างเดียว คือ ต้องทำกองทัพให้เป็นกองทัพ ในบริบทของทหารเกณฑ์ เมื่อลูกหลานของพี่น้องประชาชนเข้ามาเป็นทหาร แปลว่าพวกเขามีความตั้งใจรับใช้ชาติ แต่กลับถูกส่งไปเลี้ยงไก่ ทำงานบ้าน กลายเป็นว่าคนที่อยากเป็นทหาร ไม่ว่ามาจากการคัดเลือกหรือจากการอาสา ภารกิจกลับไม่ใช่ของทหาร

สิ่งนี้กลายเป็นข้อเรียกร้องค่อนข้างมากว่ากองทัพน่าจะสร้างความเป็นองค์กรสมัยใหม่ได้มากกว่าที่เราเห็น

ประเด็นที่คนมองถึงความหละหลวมของกองทัพ ที่เหตุใดคนร้ายจึงนำอาวุธออกมาได้ง่าย เชื่อว่าประเด็นที่เกิดขึ้นกองทัพเห็นปัญหาแล้ว แต่เชื่อว่าสังคมอยากเห็นมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจากอาวุธในคลังเหล่านี้เป็นอาวุธหนัก เป็นอาวุธสงครามโดยตรง หากถูกนำออกมาใช้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำหน้าที่อย่างยากลำบาก ดังนั้น ต้องมีหลักประกันที่เข้มงวดมากขึ้น ที่ทำให้ประชาชนมั่นใจว่า อาวุธเหล่านี้จะไม่หลุดออกมาจากคลังสรรพาวุธทหารแล้วถูกนำมาใช้ก่อเหตุร้ายในชุมชน

กองทัพต้องเข้าใจสังคมว่าเหตุใดจึงต้องการเห็นมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพราะเหตุที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนว่าต้องคิดเรื่องพวกนี้ ทหารจะรู้สึกว่าประชาชนคิดมากหรือเรียกร้องมากเกินไปไม่ได้

ส่วนโจทย์เรื่องการปฏิรูปกองทัพ เราถกกันมาใหญ่ที่สุดคือช่วงหลังสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุด แต่คิดว่ากระแสปฏิรูปปัจจุบันต้องยอมรับว่า เกิดจากการเปิดเวทีของพรรคการเมืองที่นำมาสู่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ว่าถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปกองทัพไทย

กรณีที่เกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา อาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอบว่าชีวิตภายในกองทัพอาจจะมีปัญหา และมีบางเรื่องที่เหมือนถูกเก็บซ่อนภายในกองทัพ เช่น บริบทของการทำธุรกิจ เมื่อเป็นแบบนี้ยิ่งชัดเจนว่า อาจจะต้องคิดเรื่องการปฏิรูปกองทัพจริงจัง

วันนี้กองทัพต้องเข้าใจสังคมว่า สถานการณ์โลก เงื่อนไขความต้องการทางทหารที่ไทยจะมีกองทัพขนาดใหญ่แบบเดิม โจทย์วันนี้เปลี่ยนแปลงแล้ว

การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในรอบ 5 ปี หลังรัฐประหาร เริ่มกลายเป็นข้อครหาทางการเมือง ซึ่งแปลว่าหลายเรื่องเริ่มเห็นวันนี้ อาจต้องเริ่มคิดว่า วันนี้กองทัพไทยจะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร และปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างไร จะมองข้อเรียกร้องว่าเป็นพวกต่อต้านทหาร คิดว่าคงไม่เพียงพอ และอาจจะไม่ตอบโจทย์ของฝ่ายทหาร

ต้องเข้าใจว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้เกิดขึ้น เนื่องจากสังคมเริ่มรู้สึกว่าความต้องการที่จะให้กองทัพทำหน้าที่ด้านความมั่นคงมากแบบเก่าอาจจะลดลง โดยความเชื่อและความรู้สึกของประชาชน

ผมมีความหวังว่าการปฏิรูปกองทัพจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะแรงกดดันเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งปกติการปฏิรูปกองทัพต้องพูดในเชิงวิชาการ ว่าแรงกดดันของการปฏิรูปกองทัพมาจากเงื่อนไขสงคราม แต่กรณีของไทยอาจจะต่างออกไป เพราะในโลกสมัยใหม่ไม่มีเงื่อนไขทางสงครามขนาดนั้น แต่กำลังกลายเป็นแรงกดดันจากสังคม ซึ่งคิดว่าเป็นอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ

ส่วนผู้นำกองทัพจะละเลยจากแรงกดดันเหล่านี้หรือไม่ เชื่อว่าถ้าไม่ทำ แรงกดดันจะมีมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งของแรงกดดัน ความรู้สึก และข้อมูลข่าวสารในเรื่องเหล่านี้ถูกแพร่กระจายในสังคมออนไลน์ และสร้างความรู้สึกร่วมว่าน่าจะถึงเวลาที่สังคมไทยต้องปฏิรูปกองทัพ

ถ้าผู้นำฝ่ายทหารสามารถใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญของการปฏิรูปกองทัพ ไม่ต่างจากสังคมไทยถ้าจะใช้วาระนี้ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส หากทำได้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ระยะยาวกับสังคม และประเทศไทย

ส่วนการแถลงข่าวของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ต่อกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมยังรู้สึกดีใจ ที่อย่างน้อยยังเห็นผบ.ทบ.ตัดสินใจเอ่ยปากขอโทษ เพราะจนถึงวันนี้เรายังไม่ได้ยินคำขอโทษจากรมว.กลาโหมเลย

จะปฏิเสธว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับทางทหารไม่ได้ จะใช้เพียงคำพูดว่า “เมื่อตัดสินใจลั่นไกกระสุนก็ไม่ใช่ทหาร ซึ่งไม่ใช่ความจริง” เพราะต้นทางของเรื่องนี้มาจากมูลเหตุในค่ายทหาร และเกิดขึ้นในบริบทที่ทหารเองคงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

สิ่งที่ผบ.ทบ.ออกมาแถลงขอโทษ อาจจะมีลักษณะที่เราไม่เคยเห็น คือการหลั่งน้ำตา ผมคิดว่าด้านหนึ่งสังคมไทยพอรับได้บ้าง แต่เชื่อว่าไม่ทั้งหมด เพราะวันนี้แรงกดดันกองทัพเยอะกว่าที่คิด และอยากย้ำว่า วันนี้แรงกดดันทางสังคมที่มีต่อกองทัพเยอะกว่าที่ผู้นำทหารคิด

ผมยังเชื่อในทางที่ดี ไม่อยากคิดว่าผบ.ทบ.มาเล่นละครหรือดราม่า แต่คิดว่าสิ่งที่ผู้นำกองทัพตระหนัก และอาจต้องตระหนักมาก คือ กระแสสังคมแรงขึ้น ซึ่งเป็นโลกโซเชี่ยลสมัยใหม่

ผมยังสงสัยอย่างเดียวว่าผบ.ทบ.ได้อ่านโลกโซเชี่ยลมาก่อนหรือไม่ ถึงรู้ว่ากระแสแรง ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ผิดทุกอย่าง ไม่ต้องรับรู้ แล้วไปโบกไม้โบกมือเหมือนกับการไปหาเสียง ทั้งที่พื้นที่เกิดเหตุมีคนเสียชีวิต แปลว่าถ้าเราไม่รู้อะไรเลย สะท้อนอย่างเดียวว่าการแสดงออกอย่างนั้น ผิดกาลเทศะ ซึ่งสังคมไทยการผิดกาลเทศะ เป็นการสะท้อนวุฒิภาวะของคน

ดังนั้น ในบริบทแบบนี้ ในกระแสที่แรง กระทรวงกลาโหมและกองทัพ จะรับอย่างไร

เชื่อว่าคำถามที่เป็นเหมือนหอกที่พุ่งไปยังรมว.กลาโหมและผบ.ทบ. ยังเป็นหอกที่แหลมคม เพราะกระแสสังคมยังมีแรงกดดันอยู่เยอะ หากตั้งรับไม่ดีจะกลายเป็นปัญหาทางการเมือง

ผมอยากเตือนรมว.กลาโหม ว่าถ้ายังปล่อยทุกอย่างไป เหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา อาจกลายเป็นวิกฤตการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ได้

วันนี้สิ่งที่สังคมต้องการเห็น คือการแสดงความรับผิดชอบที่มีความชัดเจน ไม่ได้บอกว่าให้ผบ.ทบ.ลาออก แต่คิดว่าเราอยากเห็นความรับผิดชอบในฐานะผู้นำองค์กร ทำอย่างไรที่จะสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบของผู้นำองค์กร ขณะเดียวกันปัญหาอย่างนี้มีนัยยะความรับผิดชอบทางสังคมต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

วันนี้ผมแปลกใจที่ไม่เห็นท่าทีความรับผิดชอบของ รมว.กลาโหมที่ชัดเจน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้กระแสสังคมยังแรงมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน