รัฐบาล-กองทัพ กอดคอกันวิกฤต

คอลัมน์ ประเด็นร้อน

รัฐบาล-กองทัพ กอดคอกันวิกฤต – เป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องกรณีจ่ากราดยิง 30 ศพโคราช บาดเจ็บเกิน ครึ่งร้อย

ไม่เพียงเป็นโศกนาฏกรรมนำมาซึ่งความเศร้าสลดแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ยังก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขนานใหญ่กับกองทัพบกที่ตกเป็นเป้าของสังคม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม

เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นกำลังพลของกองทัพบก อาวุธปืนใช้ก่อเหตุ ก็ปล้นชิงมาจากคลังในค่ายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงจูงใจในการก่อเหตุ มาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด แต่ทำอะไรไม่ได้

ถึงจุดหนึ่งจึงระบายแค้นด้วยการสังหารผู้บังคับบัญชา และออกมาไล่ยิงกราดประชาชนผู้บริสุทธิ์ สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคย มีมา

หลังเหตุการณ์สงบ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ผู้นำสูงสุดกองทัพบกเปิดแถลงข่าวทั้งน้ำตาต่อสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ กล่าวขอโทษ แสดงความเสียใจต่อประชาชน ครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้ได้บาดเจ็บ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต

พร้อมยอมรับว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ เนื่องจาก “จ่า” คนดังกล่าวไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ผู้บังคับบัญชา ในเรื่องการซื้อ-ขายที่ดิน แล้วมีการผิดสัญญากันในเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน

อย่างไรก็ตามวรรคทองที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือประโยคคำพูดของพล.อ. อภิรัชต์ที่ว่า “ณ วินาทีที่ผู้ก่อเหตุลั่นไกสังหารคู่กรณี ณ วินาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป”

ถึงพล.อ.อภิรัชต์ จะขอร้องไม่ให้ประชาชนในสังคมกล่าวตำหนิ ด่าว่ากองทัพบก หรือด่าทหาร หากจะด่า ก็ให้มาด่าตนเองคนเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน พล.อ.อภิรัชต์ ได้ปฏิเสธที่จะทำตามกระแสเรียกร้องให้แสดงสปริตลาออกจากตำแหน่งผบ.ทบ. เพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้นำองค์กรสูงสุดของกอง ทัพบก

อ้างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหาร ไม่ใช่ความผิดพลาดจากการปฏิบัติภารกิจของกองทัพบกภายใต้คำสั่งการของตน แต่เป็นเรื่องความบาดหมางใจระหว่างผู้ก่อเหตุกับคู่กรณี

“ทุกวิกฤตที่ผ่านมาจนกำลังจะเกษียณอายุราชการ อะไรที่ผู้บังคับบัญชาทำ ผมรับผิดชอบ แต่ผมไม่สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำที่เป็นเหตุการณ์ส่วนตัว การก่ออาชญากรรม การทำผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนระเบียบวินัย อันนั้นผมรับไม่ได้” ผบ.ทบ. กล่าว

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ยืนยันจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ 7-8 เดือนก่อนเกษียณอายุราชการบนเก้าอี้ผบ.ทบ. ในการปรับปรุงพัฒนากองทัพบกต่อไป อย่างมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะเป็นการล้างระบบอุปถัมภ์ ขจัดเด็กเส้นเด็กฝาก ลดจำนวนกำลังพล

ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงจากผู้บังคับบัญชา

โดยมีดำริตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ เปิดรับข้อมูลการร้องเรียนจากทหารทุกระดับชั้น ส่งต่อถึงมือผบ.ทบ.โดยตรง โดยข้อมูลทุกอย่างจะเป็นความลับ

การสะสางธุรกิจในค่ายทหาร การเซ็นสัญญากับกระทรวงการคลังในการใช้ทรัพย์สินที่ดินราชพัสดุ รื้อระบบสวัสดิการกองทัพบกปรับเป็นสวัสดิการเชิงพาณิชย์ แล้วให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ยกเลิกจัดซื้อปืนสวัสดิการทุกชนิด เพิ่มมาตรการป้องกันคลังอาวุธ จัดระเบียบยุทโธปกรณ์

รวมถึงจัดระเบียบบ้านพักทหาร ที่พล.อ.อภิรัชต์ขึงขัง ประกาศขีดเส้นตายภายในเดือนก.พ. ให้ผู้เกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ยังอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ทหาร ต้องย้ายออกทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ทหารที่ไม่มีบ้านเข้ามาอยู่แทน

ฉับพลันสิ้นเสียงประกาศของผบ.ทบ. ทุกสายตาจับจ้องไปยัง 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ด้วยความสงสัยว่าจะอย่างไร ต้องย้ายออกด้วยหรือไม่

แต่ก็เป็นข้อสงสัยในเวลาสั้นๆ เพราะหลังจากพล.อ.อภิรัชต์ ประกาศได้แค่ 2 วัน ก็มีรายงานข่าว ระบุ

สำหรับนายทหารเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และองคมนตรี ยังอยู่อาศัยในพื้นที่ทหารได้ตามปกติ ไม่ต้องย้ายออก

แค่เรื่องบ้านพักทหารก็ยังมีข้อยกเว้นพิเศษ

คนทั่วไปเลยคิดต่อไปว่า แล้วเรื่องอื่นๆ ซึ่งน่าจะทำได้ยากกว่า ไม่ว่าการล้างระบบอุปถัมภ์เด็กเส้นเด็กฝาก การชำระล้างธุรกิจสีเทาในค่ายทหาร ลดการกดขี่ข่มเหงทหารชั้นผู้น้อย จะเป็นจริงหรือไม่

หรือทั้งหมดเป็นแค่การแถลงเพื่อลดกระแสกดดันต่อกองทัพบกจากเหตุกราดยิง 30 ศพเท่านั้น

โดยหลังคำแถลง ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความหวังอย่างมากว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ

อย่างที่รู้กันว่าเหตุการณ์ที่โคราช กระทบต่อภาพของกองทัพอย่างหนัก

เมื่อกองทัพได้รับผลกระทบ ก็ย่อมส่งแรงสะเทือนต่อไปยังรัฐบาลโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ยังไม่รวมถึงการที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไปทำท่าแจก “มินิฮาร์ต” ที่โคราช จนถูกสังคมวิจารณ์ถึงเรื่องวุฒิภาวะ เหมาะสมไม่เหมาะสม

ตลอดเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา จากรัฐบาลคสช. แปลงร่างมาเป็นรัฐบาลเรือเหล็กแป๊ะคนเดิม รัฐบาลกับกองทัพต่างฝ่ายต่างมีบทบาทค้ำจุนช่วยเหลือกันมาตลอด โดยเฉพาะกับตำแหน่งผบ.ทบ.ที่สืบต่อกันมาถึงปัจจุบันในยุคของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ช่วงหลังตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา จะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอมากที่สุดในรอบ 5 ปี จากการถูกสารพัดปัญหารุมเร้าจนซวนเซตั้งตัวไม่ติด ตั้งแต่เรื่องฝุ่นพิษ ภัยแล้ง ไวรัสโควิด-19

ในทางการเมือง รัฐบาลพยายามพาตัวเองออกจากสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ ด้วยการระดมแจกกล้วย ดึง “งูเห่า” จากฝ่ายค้านย้ายข้างมาได้หลายเสียง

แต่บรรยากาศการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 รอบใหม่ในสภา เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา องค์ประชุมเป็นไปอย่างทุลักทุเล กว่าจะผ่านได้ก็หืดจับ คือสัญญาณเตือนว่ากับเสียงส.ส.ที่มีอยู่ รัฐบาลยังวางใจอะไรไม่ได้

ฉะนั้น ด่านต่อไปศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะหากพลาดพลั้งเสียงไม่ไว้วางใจมากกว่าไว้วางใจ ย่อมส่งผลให้นายกฯ ถึงกับต้องลาออก ยุบสภาเลือกตั้งใหม่กันเลยทีเดียว

ที่สำคัญกองทัพซึ่งเคยเป็นเสาหลักค้ำยันรัฐบาล สูญเสียความศรัทธาลงไปมากจากเหตุการณ์กราดยิง 30 ศพโคราช แม้พล.อ.อภิรัชต์ จะพยายามหาทางแก้ไข แต่ก็ดูเหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

ประโยคที่ว่า “ณ วินาทีที่ผู้ก่อเหตุลั่นไกสังหารคู่กรณี ณ วินาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป” ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกในทางลบ มากกว่าทางบวก

ถ้าเปลี่ยนเป็น แอ่นอกประกาศรับผิดชอบต่อความสูญเสียของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา จะได้รับเสียงปรบมือกึกก้องแน่นอน

กระแสของกองทัพที่เริ่มออกมาในทางไม่ดี ทำให้มีปฏิกิริยาจากสังคมหนักหน่วงขึ้น

จากที่เคยส่งเสียงกันในโลกโซเชี่ยล ก็ลุกลามออกมาในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างที่เห็นป้ายข้อความ เมื่อเย็นค่ำวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ

สะท้อนให้เห็นทั้ง “บิ๊กตู่-บิ๊กแดง” ณ วินาทีนี้ ทั้งสองคนไม่ต่างจากสภาพเตี้ยอุ้มค่อม

ง่อนแง่นด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน