บทบรรณาธิการ

เวลาที่เดินหน้ามาถึงวันที่ 22 พฤษภาคมขณะนี้ เป็นวาระครบรอบ 3 ปีเหตุการณ์รัฐประหาร และขึ้นสู่ปีที่ 4 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เป็นระยะเวลาที่นานกว่าเหตุยึดอำนาจหลายครั้งก่อนหน้านี้

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติหมุดหมายสำคัญในการยึดอำนาจ คือรักษาความสงบเรียบร้อย ปฏิรูปประเทศ ขจัดความขัดแย้ง สร้างความปรองดองในชาติ

พร้อมประกาศโรดแม็ปคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน

แต่เส้นทางของการคืนประชาธิปไตยนี้กลับมีรูปแบบแนวทางที่จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างน่าพิศวง

การแถลงผลงานของคสช.ในรอบ 3 ปีไม่เกิดขึ้นในวันครบรอบ เมื่อแจ้งว่าจะยกยอดไปรวมกับผลงานรัฐบาลเพื่อแถลงในเดือนกันยายน

เพียงมีคำโต้แย้งสั้นๆ จากคณะผู้อยู่ในอำนาจว่าที่ทำมาทั้งหมดนี้ไม่เสียของ

มีการเอ่ยถึงข้อมูลการจัดอันดับขององค์กรระหว่างประเทศว่าส่วนใหญ่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยไม่เอ่ยถึงการหยุดชะงักหรือลดทอนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาลชาติต่างๆ

มีการเอ่ยถึงผลงานการแก้ไขปัญหาของสังคมที่สะสมมานาน พร้อมมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ว่าเพื่อจะไปสู่วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

โดยยังไม่ประเมินผลกระทบจากการหยุดกลไกทางการเมืองในระบอบรัฐสภา หรือการมีผู้แทนจากประชาชน

ในทางเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐไม่ปฏิเสธว่า ตัวเลขดีขึ้นไม่ได้สะท้อนว่าการกระจายรายได้เป็นไปด้วยดีหรือไม่

สิ่งที่ชัดเจนมากในช่วง 3 ปีมานี้คือภาพที่บ่งบอกว่าระบบราชการไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยลำพัง หากปราศจากภาคการเมืองที่มีผู้แทนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ไม่ว่าผู้แทนจะเป็นนักการเมืองที่ดีหรือไม่ดี แต่ได้ทำให้ระบบการผลักดันและตรวจสอบโดยประชาชนทำงานอยู่ตลอดเวลา

เมื่อขาดตัวแทนประชาชน จึงทำให้การแก้ปัญหาและการประเมินผลงานไม่ชัดเจนและน่าพิศวงต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน