ปฏิรูปกองทัพ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ปฏิรูปกองทัพ – กระแสเรียกร้องจากพรรคการเมืองให้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง หลังโศกนาฏกรรมกราดยิงโคราช 30 ศพ อาจถูกมองว่ากำลังท้าทายหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในระบบราชการไทย

แต่หากในมุมมองประชาธิปไตยแล้ว ข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวต่างๆ นี้เป็นปกติอย่างยิ่ง เพราะกองทัพมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากมาย ทั้งด้านการช่วยเหลือมนุษยธรรม การรองรับปฏิบัติการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการร่วมภารกิจกับนานาประเทศ

ดังนั้นประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่น่าเคารพศรัทธาและเป็นที่พึ่งของคนในสังคมโดยรวม

สำคัญที่สุดคือกองทัพต้องขับเคลื่อนการพัฒนาประชาธิปไตยไปพร้อมกับประชาชนได้

ปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกองทัพและปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ถูกกระทำเป็นทหารชั้นผู้น้อย นักศึกษาวิชาทหาร หรือเป็นประชาชนในพื้นที่ล่อแหลม เช่น ชายแดนใต้

ไม่ว่ามีข้อเสนอให้กองทัพมีกลไกคุ้มครองทหารที่เป็นผู้ร้องทุกข์ รวมถึงกำหนดขอบเขตอำนาจของศาลทหารที่ไม่ควรจับพลเรือนคนใดขึ้นศาลทหาร

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพอันเป็นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตย

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางประชาธิปไตยที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมนำเสนอและตรวจสอบผ่านผู้แทนในสภา ไปจนถึงสะท้อนความเห็นผ่านสื่อมวลชน

หลักสำคัญที่บุคลากรในกองทัพต้องเข้าใจคือการปฏิรูปหรือปรับตัวเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อแก้ไขความคิดและการปฏิบัติหน้าที่ที่ครึ่งๆ กลางๆ และบ่อยครั้งที่เกิดความเข้าใจผิด

ความเข้าใจผิดที่ร้ายแรงที่สุด คือการเข้าแทรกแซงทางการเมืองด้วยวิธีรัฐประหาร

นอกจากสำคัญตนผิดแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า เข้าใจหลักประชาธิปไตยผิด และใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ผิด

กองทัพจึงต้องปฏิรูปหลักคิดและปฏิบัตินี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกับประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน