ความเสียหายทางศก.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ความเสียหายทางศก. : เรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้คือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงเหลือร้อยละ 1.5-2.5 มีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2

จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.7-3.7

หลังจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.6 และถือว่าต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส หรือในรอบ 5 ปี ส่งผลต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปี 2563

สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 น่าจะเป็นช่วงที่ต่ำสุดของปี 2563

เนื่องจากมีปัญหาใหม่อย่างไวรัส โควิด-19 และปัญหาเดิมอย่างภัยแล้งและงบประมาณออกล่าช้า

ผลกระทบจากเหตุที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนจากการระบาดของโรคภัย ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2563 จะลดลง 4.8 ล้านคน จากเป้าหมาย 41.8 ล้านคน เหลือราว 37 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 2.3 แสนล้านบาท

ส่วนปัญหา 2 เรื่องที่ควรจะเตรียมการและบรรเทาผลกระทบไว้ก่อน ได้แก่ ภัยแล้ง ไม่พบว่ามีมาตรการรับมืออย่างจริงจังที่ชัดเจนตั้งแต่ปีก่อน จนขณะนี้สภาพัฒน์ระบุว่า ปัญหาเริ่มรุนแรงและส่งผลกระทบในภาพรวมมากขึ้น ถึงขั้นอาจทำให้จีดีพีภาคเกษตรปี 2563 ลดลงร้อยละ 5

อีกเรื่องคือความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ประเมินว่ากว่าจะเบิกจ่ายได้คือช่วงต้นเดือนเม.ย.2563 และทำให้ส่วนการลงทุนลดลงจากประมาณการเดิมราว 32,000 ล้านบาท

กรณีนี้เป็นความรับผิดชอบที่ต้องตั้งคำถามทางการเมือง

เมื่อเกิดการตั้งคำถามทางการเมือง ย่อมต้องมีการตรวจสอบ อภิปรายในสภา และวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

กรณีรัฐบาลชุดก่อนๆ เคยถูกตั้งคำถามไปจนถึงถูกร้องเรียนและตัดสินมาแล้ว

ดังนั้นเมื่อการบริหารราชการและนโยบายมีผลกระทบเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต้องไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการถูกตรวจสอบหรือถูกอภิปราย หรือให้ประชาชนตัดสินว่าควรจะบริหารต่อไปได้หรือไม่

บางครั้งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจต้องการการกำกับดูแลพิเศษ จำเป็นต้องอาศัยคณะบริหารที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน