ไร้ที่พึ่ง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ไร้ที่พึ่ง – เมื่อประเทศเผชิญปัญหาและอุปสรรคหลายๆ ด้านอย่างในปัจจุบัน ความคาดหวังในการหาทางออกและการบรรเทาผลกระทบมักมุ่งตรงไปยังรัฐบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสนอตัวเข้ามาบริหารจัดการเรื่องของประเทศ

จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้สมาชิกส่วนอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อปัญหา หรือการแสดงตนเป็นที่พึ่ง

กรณีที่รัฐบาลต้องการความร่วมมือจากประชาชน ไม่ควรแสดงท่าทีหรือสื่อสารออกมาว่า ประชาชนควรจะแก้ปัญหากันเองบ้าง ดูแลตนเองไป อย่ามัวแต่เรียกร้อง

เพราะการแสดงออกเช่นนั้นกำลังตอกย้ำว่า รัฐบาลกำลังปกครองและสั่งการ ไม่ใช่ศูนย์รวมระดมความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการ

กรณีเมื่อเร็วๆ นี้ การปิดโรงงานจีเอ็ม ผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้นๆ ของโลก ประกาศแผนเลิกผลิตและจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในเมืองไทยไม่เพียงเป็นการปรับตัวทางธุรกิจของเอกชน แต่ยังเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่พนักงานอย่างน้อย 1,500 คนจะต้องออกจากงานที่เคยทำ

รัฐบาลกลับระบุว่า กรณีนี้ไม่น่าจะต้องกังวลอะไร เพราะยังมีตำแหน่งงานอีกมากมายในประเทศ แค่ให้ไปหาในกูเกิ้ลจะพบแหล่งรับสมัครงานใหม่

ถ้อยคำและท่าทีดังกล่าวอาจมาจากความตั้งใจที่ไม่ต้องการให้คนในสังคมหรือนักลงทุนวิตก แต่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจสถานการณ์และข้อเท็จจริง

จึงเป็นไปได้ที่ประชาชนจะข้องใจในศักยภาพของรัฐบาล และอาจส่งผล กระทบต่อความเชื่อมั่นด้วย

สถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญหน้ากันอยู่นี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจยุคใหม่

ความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ลดลง ทั้งด้านเกษตรและอุตสาหกรรม ส่วนการท่องเที่ยวก็เผชิญผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด-19

ขณะที่การเมืองแม้จะกลับมามีรัฐบาลพลเรือน แต่ก็ไม่มีความพยายามที่จะป้องกันการยึดอำนาจโดยทหาร แม้แต่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากส.ส.รัฐบาล

ดังนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเผชิญอนาคตและผลกระทบเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน