ยุบ‘อนค.’กับผลกระทบการเมือง

ยุบ‘อนค.’กับผลกระทบการเมือง : หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ตามมาตรา 92(3) ประกอบมาตรา 72 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กรณีพรรค อนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเพิกถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งวันที่ 2 ม.ค.2562 หรือ 11 เม.ย.2562 มีเหตุ 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค ซึ่งผู้ถูกเพิกถอนสิทธิ ไม่สามารถตั้งพรรคใหม่ หรือมีส่วนร่วมในการตั้งพรรคใหม่ เป็นระยะเวลา 10 ปี

นักวิชาการมีมุมมองหลากหลายประเด็น อาทิ บรรยากาศการเมืองหลังจากนี้ ผลต่อการที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะ มีขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 ก.พ. ผลกระทบต่อการทำงานในพรรค ร่วมฝ่ายค้าน ดังนี้

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เชื่อว่าบรรยากาศทางการเมืองหลังจากนี้ไม่น่าจะเกิดความรุนแรง แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่เชื่อว่าแกนนำพรรค ทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือนาย ปิยบุตร แสงกนกกุล ยังมีโอกาสเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ต่อไปได้อีก

ที่สำคัญกลุ่มคนที่ชื่นชอบในนโยบาย รวมทั้งแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น เชื่อว่าจะยังตามไปให้การสนับสนุนต่อ

ส่วนรัฐบาลคงใช้กลยุทธ์ในการควบคุมกลุ่มคนที่จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งภาพรวมทางการเมืองหลังจากนี้จะไม่แตกต่างไปจากบรรยากาศหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะการแสดงความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ยังคงถูกควบคุมในระดับหนึ่ง

แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว แต่รัฐบาลและกองทัพต่างยังคงเกาะกันเหนียวแน่น กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว

การยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ครั้งนี้ มองว่าจะส่งผลกระทบกับฝ่ายค้านพอสมควร โดยเฉพาะส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อาจจะทำให้เนื้อหาสาระ ข้อมูลดีๆ รวมทั้งประเด็นในการอภิปรายถูกลดทอนลง ประสิทธิภาพก็ลดลงตามไปด้วย

กลายเป็นว่าเป็นผลเสียมาตกกับฝ่ายค้านมากกว่า เพราะทำให้การอภิปรายทำได้ไม่เต็มที่อย่างที่เตรียมการกันเอาไว้

แต่เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้คงไม่จบลงด้วยการยุบสภาอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลยังยึดกุม เสียงข้างมากเอาไว้

ส่วนที่นายธนาธรและนายปิยบุตรประกาศว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนอกสภา หากพรรคถูกยุบ นั้น ถ้าไม่ถูกสกัดกั้นโดยกลไกของรัฐบาลและกองทัพเสียก่อน เพราะที่ผ่านมากฎหมายด้านความมั่นคง ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกับคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ก็อาจจะเกิดประโยชน์กับประชาชนใน ภาพรวม ทำให้ประชาชนได้ตระหนักรู้มากขึ้น

ขณะที่แกนนำได้พื้นที่เคลื่อนไหวและทำกิจกรรม มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่จะ ไม่ใช่ชนวนเหตุความขัดแย้งรอบใหม่ในบ้านเมือง เพราะกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคนี้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และ กลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งมีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตพอสมควร

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปลุกกลุ่มคนเหล่านี้ ออกมา เดินขบวนหรือชุมนุมเป็นสเกลใหญ่ๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความรุนแรงอีกด้วย

ธเนศวร์ เจริญเมือง

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การฆ่าพรรคให้ตายไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ในทางการเมืองถือเป็นการลงโทษที่โหดร้ายมาก กว่าจะมา ตั้งพรรคการเมือง หาเสียง หาคะแนนเข้ามาเป็นส.ส. แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนจำนวนหนึ่งมาตัดสินอนาคตพรรคโดยไม่ถามประชาชนแบบนี้ ผลที่ตามมาย่อมร้ายแรง

ที่ผ่านมาแม้จะมีพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบ แต่ล้วนเป็นพรรคฝั่งรัฐบาล การยุบพรรคส่งผลให้ครม.ต้องสิ้นสุดลง แต่ครั้งนี้พิเศษมากและแปลกกว่าครั้งอื่น คือพรรคที่ถูกยุบไม่ใช่พรรครัฐบาล จนเป็นที่น่าสังเกตถึงเจตนาที่ทำให้ถูกยุบอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งที่มีคนจำนวนไม่น้อยออกมาต่อต้าน

พรรคอนาคตใหม่ อย่างที่รู้กันว่าเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เป็นพรรคแรกที่ตั้งขึ้นมาแต่กลับมีคะแนนสนับสนุนเยอะมาก มีแนวคิดที่จะทำเรื่องใหม่ๆ ซึ่งไม่มีพรรคไหนเคยทำ เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ การเสนอค่านิยมความหลากหลายทางเพศ สนับสนุนชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ทั้งโดดเด่นในฝีมือการอภิปราย ถือเป็นส.ส.สมัยแรกที่พูดจาเฉียบขาดหลายประเด็นในระดับที่ส.ส.มือเก๋าต้องตั้งใจฟัง

นี่เป็นครั้งแรกในการเมืองสมัยใหม่ที่สมาชิกพรรคเกิดขึ้นโดยไม่ได้ดึงจากพรรคเก่าๆ เข้าร่วม แต่สามารถสำแดงทางการเมืองได้โดดเด่นในสภา จนนำไปสู่เหตุให้ถูกลงดาบประหารจนหมดสิ้นอนาคตใหม่ ยุบพรรค ตัดสิทธิ 10 ปี และห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

หากจะวิเคราะห์แนวทางต่อจากนี้คือ 1.พรรคอนาคตใหม่ต้องนั่งคุยกันเพื่อสรุปบทเรียนว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร

2.ผลกระทบที่เห็นชัดมากที่สุดคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะดูเหมือนจะถูกตัดแขนขาออกแบบจงใจ แม้จะยังเหลือพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก แต่คะแนนฝ่ายค้านที่มีน้อยอยู่แล้วจะยิ่งน้อยลงไปอีก คิดว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร 3.จากนี้ไปประชาชนจะเริ่มคิดวิธีการโต้กลับมากขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่วิ่งไล่ลุงหรือวิ่งป่วนลุงแล้ว แต่จะเป็นวิธีอื่นที่นำไปสู่สงครามการเมืองสองแนวทาง คือ ส่วนที่อยู่ในสภา และส่วนที่คุณไปทำร้ายเขาจนเขาต้องโต้กลับคุณ

ส่วนประเด็นที่ต้องเน้นคือ ตกลงแล้วการลงโทษแบบนี้ได้เวลาต้องคุยกันแล้วหรือไม่ ประชาชนควรมีสิทธิตัดสินอนาคตพรรคที่ตัวเองเลือกหรือไม่

อีกประเด็นใหญ่ที่จะเป็นผลพวงต่อจากนี้คือ สถานการณ์ความตึงเครียดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อากาศ โรคร้าย ภัยแล้งต่างๆ ที่กระหน่ำทำร้ายประชาชนอยู่ตอนนี้ จะยิ่งทับถมกับเหตุการณ์ความขัดแย้งไม่พอใจ จนแตกแยกออกเป็นฝ่าย หนักเข้าไปอีก

การเมืองแบบนี้จะไปซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจให้รุนแรงมากขึ้น เหมือนคุณเอาระเบิดทางการเมืองไปขว้างลงกลางวงเศรษฐกิจประเทศไทย ปรากฏการณ์ต่อจากนี้เรียกว่า “Potato drop” หรือ “มันหยด” อย่าได้กะพริบตาเลยในช่วง 6-7 เดือนจากนี้

ซ้ำยังจะยิ่งเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่ผุดขึ้นมาให้เห็นอยู่เรื่อย แทนที่สังคมจะมีพื้นที่ในการหันเข้ามาคุยกันในสภา ใช้สภาเป็นเวทีตัดสินความขัดแย้ง แต่คุณดันเอาสก๊อตเทปขนาดยักษ์ปิดปากตัวแทนคนรุ่นใหม่ทั้งพรรค มันโหดร้ายเกินไป

ทั้งหมดทั้งมวลคือ แทนที่รัฐบาลจะปฏิรูปประเทศ ปรากฏว่า 5 ปีไม่มีอะไรเกิดขึ้น คำว่า “ปฏิรูป” จาก ร.เรือ ก็กลายมาเป็น ล.ลิง พรรคอนาคตใหม่แค่หยิบยกปัญหาขึ้นมาเปิดเผย ทำให้ประเด็นมัน เด่นชัด ไม่ได้ไปคุ้ยหรือทำให้เกิดขึ้น แต่ มีมาตั้งนานแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า การลงโทษที่เกิดขึ้นเป็นเพราะไม่ต้องการให้พรรคอนาคตใหม่มีบทบาททางการเมือง แล้วมาพูดถึงปัญหาที่เขาไม่อยากได้ยิน

เพราะเขาเคยบอกจะปฏิรูป แต่ไม่ได้ทำ ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงก็จะ เกิดขึ้นตามการลงโทษที่รุนแรงต่อไป

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ในทางกฎหมายกรรมการบริหารพรรคถือว่าถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี จากนั้นต้องดูต่อไปว่าการดำเนินคดีทางอาญาจะเป็นอย่างไร เพราะศาลใช้มาตรา 72 ซึ่งมีโทษทางอาญาอยู่ด้วย

ดังนั้น นอกจากกระบวนการทางการเมืองแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือต้องไปดูการดำเนินคดีทางอาญาต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามกระบวนการทางกฎหมายที่จะตามมาจากคำวินิจฉัย

ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่จะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น จริงๆ พรรคอนาคตใหม่มีตัวอย่างให้ดู คือกรณีที่เคยเกิดขึ้นในการยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน แต่บุคลากรหลายคนยังคงอยู่บนเส้นทางการเมืองในนามของพรรคเพื่อไทย และยังได้รับความนิยมในการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1

คิดว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะถอดบทเรียนจากพรรคเพื่อไทย เพื่อนำมาดำเนินการกับพรรคของตัวเองได้

ไม่อยากให้พรรคอนาคตใหม่หมดกำลังใจ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองต้องใช้เวลา เพียงแต่ขอให้วันนี้มีความแน่วแน่ที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อพรรคการเมืองเป็นชื่ออะไร หากมีแนวทางที่แน่วแน่ย่อมได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

การที่พรรคอนาคตใหม่ทุกยุบ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่หลายคนเป็นส.ส.ที่มีบทบาท เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล พอไม่ได้เป็นส.ส. พรรคก็เหมือนเรือที่ไม่มีกัปตันที่จะลอยลำได้ หรือการขับเคลื่อนบางเรื่องอาจไม่เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีการเจรจาในการดึงส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน

ผลที่จะเกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือเสียงของฝ่ายค้านจะน้อยลง ย่อมทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้านดำเนินการไปได้อย่างไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะขาดกัปตันเรือในส่วนของพรรคอนาคตใหม่

อีกทั้งส.ส.หลายคนก็ถูกดูดไปร่วมกับรัฐบาล ซึ่งจะทำให้รัฐบาลจะอยู่ในสถานภาพที่ง่ายขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหากับรัฐบาลแน่นอน

แต่เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับการบริหารงานบริหารประเทศในอนาคตของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องจัดการให้ดีขึ้น เพราะไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นปัญหาตลอดไป ถ้ารัฐบาลยังแก้ไขปัญหาของประเทศไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ยังเชื่อว่าจะกระทบการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านแน่นอน เพราะ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่จะต้องหาพรรคใหม่ไปสังกัด ไม่ได้อยู่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันทั้งหมด แน่นอนว่าจะกระทบเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายค้านในสภา

ส่วนจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่นอกสภาหรือไม่นั้น คิดว่าสังคมไทยผ่านจุดนั้นมา 2 ครั้งแล้ว คือตอนที่ยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน วันนี้สังคมในภาพรวมรู้ว่าจะต้องจัดการกับเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร

ในส่วนของกระบวนการประชาธิปไตยก็ดำเนิน ต่อไป ขณะที่ประชาชนก็แสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพ ที่สามารถทำได้ในหลายช่องทาง

โดยไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ที่มีการนำความ ขัดแย้งมาเป็นเงื่อนไขในการรัฐประหาร

โคทม อารียา

อดีต กกต./ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

มองว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลกับการที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่โดยตรง

ตามหลักแล้วการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนจะมีการโหวตแพ้หรือชนะ จะมีการลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ใคร คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถึงอย่างไรฝ่ายรัฐบาลก็มีเสียงมากกว่าอยู่แล้ว

ถ้าถามว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่จะมีผลกระทบต่อการทำงานของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ ต้องบอกว่าอาจมีผลกระทบบ้างแต่ไม่ใช่นัยยะสำคัญ เพราะหากเป็นเรื่องใหญ่แล้วนำมาเข้าสภาเพื่อขอรับรองเสียงจากรัฐสภา สังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลจะชนะมาตลอด แม้ว่าจะมีเสียงข้างมากเพียง 1 เสียงหรือ 50 เสียงรัฐบาลก็ชนะ

ในระบบการทำงานของสภา ในระบบกรรมาธิการและอื่นๆ ต้องวางระบบให้ดีคือให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมและมีส่วนสำคัญในการพิจารณาระดับกรรมาธิการ ถ้าเสียงของฝ่ายค้านขาดหายไปบ้างก็ไม่มีนัยยะสำคัญต่อการทำงานโดยรวม

การเมืองปัจจุบันผมมองว่าช่วงนี้รัฐบาลมีปัญหาอยู่พอสมควรแล้ว เพราะที่ผ่านมามีช่องว่างซึ่งเห็นได้ชัดว่า คนรุ่นใหม่ซึ่งอายุน้อย เป็นคนรุ่นใหม่ คนอายุมากก็เป็นคนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งอาจรู้สึกว่ารัฐบาลออกมาในทางอนุรักษนิยมมากในตอนนี้

ที่มีบอกและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะมีการปฏิรูปการเมือง แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นรัฐบาลปฏิรูปทีเดียว ซึ่งคนรุ่นใหม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน