สร้างภูมิ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สร้างภูมิ การอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นกลไกสำคัญของระบบรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านที่ ขาดหายไปนับจากเกิดการรัฐประหาร

ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนอกสภาเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนอันพึงมีได้เช่นกันตามระบอบประชาธิปไตย

ยุครัฐบาลคสช.ไม่มีกิจกรรมทางการเมือง ดังกล่าวทั้งในและนอกสภา ดังนั้นการตรวจสอบช่วงเวลานี้จึงมีเนื้อหาเข้มข้น ทั้งประเด็นในประเทศ และประเด็นเชื่อมโยงกับต่างประเทศ

แม้จะมีความพยายามและเสียงเรียกร้องจากฝ่ายรัฐบาลให้การตรวจสอบแยกผลงานรัฐบาลปัจจุบันกับรัฐบาลคสช. แต่ก็ยากที่จะแยกออกจากกัน

รัฐบาลชุดปัจจุบันกับรัฐบาลคสช. มีผู้นำและแกนนำเป็นบุคคลชุดเดียวกัน มีนโยบายคล้ายคลึงและสานต่อกันเกือบทุกด้าน

โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบปากท้องของประชาชน เนื่องจากไม่เกิดการ กระจายตัวทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลกระทบจากการแช่แข็งพัฒนาการทางประชาธิปไตยนานกว่า 5 ปี ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายช่องว่างห่างกันออกไปเรื่อยๆ ระหว่างกลุ่มคนที่กุมความได้เปรียบกับคนที่ถูกกีดกันออก

เมื่อมีปัจจัยภายนอกกระทบเข้ามาหลายด้าน ทั้งสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และล่าสุดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบการท่องเที่ยวอย่างจัง บวกกับปัจจัยภายในที่ไม่เร่งเตรียมพร้อมและไม่ขยับปรับตัว ไม่ว่าภัยแล้ง ค่าเงินบาท หรือความสามารถในการแข่งขัน

ภูมิคุ้มกันของประเทศไทยที่ต้องอาศัยประชาชนร่วมกันสร้างอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้อาการหนักกว่าที่ควรจะเป็น

การถกเถียงของสมาชิกในสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อาจถูกมองว่าเป็นการทะเลาะเบาะแว้งหรือการตอกย้ำความขัดแย้งทางการเมือง

แต่กระบวนการดังกล่าวเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่คนในสังคมต้องเรียนรู้ร่วมกันว่า การต่อสู้กันด้วยข้อมูลหลักฐานเป็นวิธีการที่ดีกว่าการยึดอำนาจ การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

จำเป็นอย่างยิ่งที่คนในประเทศจะต้องร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน