คอลัมน์ รายงานพิเศษ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และได้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาบริหารประเทศครบ 3 ปีไปแล้ว จากนี้เป็นการก้าวสู่ปีที่ 4

นักวิชาการ นักการเมือง ต้องการเห็นรัฐบาล คสช. เดินหน้าไปทางไหน

1.วิโรจน์ อาลี

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

คสช.บริหารประเทศครบ 3 ปี ประเทศดีขึ้นหรือเป็น 3 ปีที่เสียของ เราต้องมองย้อนกลับไปดูว่า ตอนยึดอำนาจทำด้วยเหตุผลอะไร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้บอกอะไรไว้บ้าง

หนึ่งในนั้นคือการยุติความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนานของกปปส. เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าคสช.ทำได้ สามารถหยุดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนั้นได้พอสมควร

ต่อมาคือการเข้ามาปฏิรูป สร้างความปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่เหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึง เรื่องเศรษฐกิจ และความมั่นคง ที่ในระยะหลังเกิดเหตุระเบิดตามสถานที่ต่างๆ ค่อนข้างบ่อย ซึ่งวงของความรุนแรงคืบคลานเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้ว

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร แต่ชี้ให้เห็นว่า เรื่องความมั่นคงซึ่งเป็นเรื่องที่คสช.มั่นใจมาตลอดว่าสามารถรักษาความสงบไว้ได้ เริ่มที่จะแสดงให้เห็นความปริแยก

ส่วนการปฏิรูป และสร้างความปรองดอง ต้องยอมรับว่าไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ เลย จึงคิดว่าคสช.น่าจะสอบตกด้วยซ้ำ เพราะเรื่องความมั่นคงแม้จะระงับความขัดแย้งได้ แต่ก็แลกมาด้วยการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพ

กรณีเรื่องการตรวจสอบแม้ว่านักการเมืองส่วนหนึ่งจะถูกตรวจสอบ แต่คสช.กลับไม่ได้รับการตรวจสอบ และดูเหมือนจะเข้มงวดมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าถึงจุดที่คสช.วุ่นอยู่กับการให้ความสำคัญในเสถียรภาพของตัวเอง มากกว่าสัญญาอื่นที่ให้ไว้กับประชาชน

ในแง่ของการปฏิรูปเศรษฐกิจ เราเห็นความพยายามในการปรับยุทธศาสตร์ในมิติต่างๆ แต่ 3 ปีแล้วถือว่าใช้เวลามาก โดยที่คสช.คงไม่สามารถอ้างได้แล้วว่า ปัญหาเกิดมาจากรัฐบาลที่ผ่านมา หรือสภาพทางเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา

เพราะด้วยระยะเวลา 3 ปี ความรู้สึกของประชาชนจะเริ่มเปลี่ยน โดยคิดว่าปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่เกิดการตั้งคำถามต่อปัจจัยภายใน มีการใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เกิดการยกระดับอะไร ในแง่นี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย

สิ่งที่ตามมาคือการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าประเทศเราไม่มีความน่าสนใจแล้วในแง่ของการลงทุน เพราะมีความไม่แน่นอน ความพยายามผูกทุกอย่างเข้าสู่เรื่องความมั่นคง

ส่วนเรื่องความปรองดองถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะหลังการรัฐประหารทุกคนมีทีท่าว่าพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง

สรุปคือคสช.พยายามทำในหลายมิติมาก แต่ผลไม่ปรากฏออกมาให้จับต้องได้ ทั้งหมดทำให้คิดว่า ภาพที่คสช.บอกมาในรอบ 3 ปีดูเหมือนจะเลือนรางไปทุกวัน และคนเริ่มตั้งคำถามว่า ผลจากการทำรัฐประหารมา 3 ปี ประเทศได้อะไร

จากนี้เข้าสู่ปีที่ 4 สิ่งที่คสช.ควรทำให้เป็นรูปธรรม พูดตรงๆ ว่าไม่คาดหวังอะไรกับคสช.แล้ว เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นเวลาที่มากพอ ซึ่งมากกว่า รัฐบาลทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้คือคสช.ควรเตรียมวางมือ สร้างบรรยากาศให้พร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง คิดถึงอนาคตของประเทศว่าไม่ใช่เรื่องของทหารคิดอย่างเดียว

2.นพ.เหวง โตจิราการ

แกนนำ นปช.

ครบรอบ 3 ปีที่ คสช.ยึดอำนาจ ทุกอย่างประสบแต่ความผิดหวัง โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ตั้งแต่ระดับรากหญ้ามาจนถึงกลุ่มระดับอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบไปหมด การกู้เงินไปจนถึงการปล่อยกู้ มีความยากมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านต้องไปกู้เงินและเป็นหนี้นอกระบบอีก

การค้าการลงทุนหดหาย นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ดังนั้นในส่วนของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถือว่าสอบตก

ด้านการศึกษาไปจนถึงด้านการแพทย์โดยเฉพาะที่มีปัญหาเรื่องพยาบาลวิชาชีพ ขอให้บรรจุเป็นข้าราชการนั้น รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังอยู่ในขั้นผัดหน้า ทาแป้งไปเรื่อย

ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ถือว่าสอบตกเช่นเดียวกัน มีแต่เพียงการโฆษณาชวนเชื่อว่ารัฐบาล คสช.ตั้งใจจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการ เชิญกลุ่มการเมือง เชิญพรรคการเมืองมาร่วมหารือแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออก

แต่สุดท้ายเป็นเพียงแค่การเชิญกลุ่มคนมาเพื่อรับฟัง และได้เอกสารรวบรวมความคิดเห็นเพิ่มออกมาอีกหนึ่งเล่มเท่านั้น ขณะที่ความปรองดองก็ไม่เกิด ปัญหาความขัดแย้งก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

ยิ่งในมิติงานด้านความมั่นคง ตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีใน จ.ปัตตานี มาจนถึงเหตุการณ์ระเบิดล่าสุดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถือเป็นการประจานความสามารถด้านการข่าว และงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลว่าสอบตกโดยสิ้นเชิง

ที่เห็นว่าเป็นความสามารถของรัฐบาลคสช.มีเพียงความสามารถเดียว คือการบังคับใช้กฎหมาย เล่นงานกับกลุ่มคนหรือฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐบาล คสช.ไปจนถึงเรื่องการคุกคามสื่อ

ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสถาปนารัฐข้าราชการขึ้น ส.ว.250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง ยิ่งทำให้ประเทศถอยหลังไปไกลอย่างยิ่ง องค์กรอิสระทั้งหลายต่างอยู่ภายใต้การชี้นำของ คสช.

สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ คสช.คือการเล่นงานคนที่อยู่ในฝั่งพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เรื่องการถอดถอน ยึดทรัพย์ รวมทั้งเล่นงานแกนนำ นปช.ด้วย สรุปแล้วรัฐบาล คสช.ล้มเหลวในทุกด้าน

คสช.คืนความสุขให้ประชาชนจนหน้านิ่วคิ้วขมวดกันไปหมดแล้ว ได้แต่บ่นอุบกัน ไม่กล้าแสดงความเห็นเพราะกลัวจะถูกควบคุมตัว

ดังนั้นอยากให้ คสช.ปล่อยวางความเกลียดชังกับฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะคสช.ยังติดอยู่กับอคติ ความเกลียดชังและความกลัวโดยเฉพาะความกลัวประชาธิปไตย

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล คสช.ต้องเร่งเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่ได้ประกาศไว้โดยเร็ว เร่งจัดทำกฎหมายเลือกตั้งให้มีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ อย่าเขียนกฎหมายที่คุกคามสื่อและลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน

แต่ทั้งหมดดูแล้วโอกาสค่อนข้างริบหรี่ เพราะรัฐธรรมนูญที่วางหลักให้เป็นรัฐข้าราชการค่อนข้าง แข็งแรงมาก ดูแล้วเปลี่ยนยาก

3.เกษม เพ็ญภินันท์

อักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ในภาพรวม 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรดีขึ้น ผลงานเดียวที่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรนักคือ ลอตเตอรี่ 80 บาท คสช.บริหารความคาดหวังไม่ได้อย่างที่เขาต้องการเมื่อครั้งยึดอำนาจปี 2557 การปฏิรูปที่ผลักดัน ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

รัฐธรรมนูญที่ออกมา ยังคงมีคำถาม เนื้อหาไม่สนับสนุนประชาธิปไตย มีการปรับดุลยภาพทางอำนาจให้มีการกำกับฝ่ายการเมืองมากขึ้น โดยการสร้างกลไก คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขึ้นมาควบคุมดูแลนโยบายรัฐบาลเลือกตั้ง ควบคู่ไปกับกลไกการปฏิรูปแต่ละด้าน ให้สามารถควบคุมฝ่ายการเมืองได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำยังมีมากขึ้น จริงอยู่ที่กลุ่มคนมีฐานะอยู่แล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในระดับฐานราก เกษตรกร แรงงาน เอสเอ็มอี ต้องเจอกับความฝืดเคือง มีภาระทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกัน นอกจากรัฐไม่ตอบสนองการจัดสวัสดิการแก่สังคมอย่าง ทั่วถึงแล้ว ยังมีท่าทีกีดกัน

ในแง่ความสงบเรียบร้อย ไม่ค่อยเห็นปัญหามากเท่าไร คสช.สร้างความสงบชั่วคราวได้ แต่ยังไม่ใช่ความสงบถาวร ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีในการควบคุม

ส่วนเหตุระเบิดร.พ.พระมงกุฎ เกล้า และระเบิดก่อนหน้าในวันสำคัญทางการเมือง คือความพยายามบ่อนเซาะคสช. แต่ยังไม่อาจตอบได้ว่าเกิดจากฝ่ายใด รัฐบาลต้องอย่าเพิ่งปรักปรำฝ่ายตรงข้าม ควรทำความเข้าใจสร้างความกระจ่างต่อสังคม

สำหรับปีที่ 4 และปีต่อไปของคสช. จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง สถานการณ์ความสงบจะเป็นอย่างไรต่อไปไม่อาจตอบได้ สภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจจะเต็มไปด้วยความอึดอัดเหมือนที่ผ่านมา

ทว่าความตึงเครียดจะเริ่มมีมากขึ้น ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับคสช. โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง ด้วยการสร้างแรงเสียดสีผ่านชุดกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง กกต. ตลอดจนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ

โจทย์ของคสช. ต่อจากนี้ คือ จะถ่ายโอนให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อไร จะบริหารความคาดหวังของประชาชนและฝ่ายการเมืองที่เฝ้ารอการเลือกตั้งได้อย่างไร

4.ชุมพล จุลใส

แกนนำ กปปส.

ในช่วง 3 ปีที่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ในสถานการณ์อย่างนี้ เรื่องความสงบเรียบร้อยความมั่นคงของประเทศ โดยส่วนตัวให้ผ่าน เพราะเห็นว่าดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วที่ประชาชนค่อนข้างตระหนกในเรื่องความปลอดภัย

แต่เรื่องเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน รัฐบาล คสช.ต้องพยายามแก้ไขให้มาก ในอนาคตข้างหน้าขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่

ส่วนเรื่องความสงบเรียบร้อย ยังเกิดเหตุระเบิดอยู่ ล่าสุดเกิดระเบิดที่ร.พ.พระมงกุฎเกล้านั้น คิดว่ารัฐบาลพยายามทำเต็มที่อยู่แล้ว คนป้องกันกับคนทำก็ยากที่จะรู้ได้ แต่หลังเกิดเหตุฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจต้องทำเต็มที่ หลังจากนี้น่าจะจับคนทำผิดมาลงโทษได้

3 ปีของคสช.ที่บริหารมา มองว่าไม่ได้เสียของ เพราะอย่างน้อยคดีทุจริตจำนำข้าวก็สามารถเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ รวมทั้งคดีต่างๆ เกี่ยวกับการทุจริตก็อยู่ในชั้นกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และอย่างน้อยบ้านเมืองก็เข้าสู่ภาวะปกติไม่มีสงครามกลาง

หากนึกย้อนกลับไปก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ออกมายึดอำนาจ ก็ยังนึกไม่ออกว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ส่วนอื่นภาพรวมไม่มีอะไรเสียหายเลย แต่ในเรื่องเศรษฐกิจต้องปรับปรุงนิดหน่อย ทุกอย่างก็ไปสู่การเลือกตั้งได้

ส่วนจุดแข็งของคสช.มีเรื่องความมั่นคง ความยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งคนไทยรับได้และยังสนับสนุน คสช.อยู่ เพราะมีความมั่นใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็นคนรักประเทศชาติบ้านเมือง และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ของคสช.ควรจะดำเนินการในเรื่องปฏิรูปที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพื่อไปสู่โรดแม็ปเลือกตั้ง ซึ่งการจะไปสู่โรดแม็ปได้ ต้องอยู่ที่สถานการณ์บ้านเมือง ถ้าสถานการณ์ไม่เรียบร้อยก็ยังไม่สมควรที่จะไปสู่การเลือกตั้ง

เห็นว่า ณ วันนี้ รัฐบาลทำให้มีความเชื่อมั่นอยู่ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนคนมีรายได้น้อย และเรื่องอื่นๆ ที่พยายามทำอยู่ ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ทำไปมาก แต่บางครั้งการประชาสัมพันธ์อาจจะน้อยไปหน่อย

ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ สัญญาว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชนและประเทศชาตินั้น เมื่อขึ้นปีที่ 4 แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำไปตามโรดแม็ป ตามรัฐธรรมนูญ หากเดินตามโรดแม็ปคือมีการเลือกตั้งกลางปี 2561 เพราะถึงอย่างไรต้องคืนความสุขให้ประชาชนแน่นอน

อย่างไรก็ตามถ้ายังเกิดเหตุวุ่นวายอยู่ ประชาชนยังไม่รักไม่สามัคคีกันอยู่ หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น เห็นว่าถ้าเลือกตั้งไป คงไม่มีความหมาย เพราะประชนยังไม่รัก ไม่สามัคคีกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน