บทสรุปประชาธิปไตย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

บทสรุปประชาธิปไตย – ประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมีหลายปมหลายเรื่อง เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน การใช้อำนาจหน้าที่ รวมถึงคุณสมบัติของ ผู้ดำรงตำแหน่ง

การถกเถียงตั้งแต่ก่อนจนมาถึงช่วงการอภิปรายที่เกิดขึ้นเป็นระยะ คือการหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารและการทำหน้าที่รัฐบาลคสช.

เนื่องจากสมาชิกบางส่วนเห็นว่า เป็นการย้อนอดีตที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว

อีกส่วนเห็นว่า บุคคลในรัฐบาลปัจจุบันสานต่องานและตำแหน่งมาจากรัฐบาลคสช. จึงไม่ควรหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบและผลกระทบที่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่น่าไว้วางใจ

ข้อถกเถียงที่ตามมาจึงย้อนไปยังช่วงก่อนเกิดรัฐประหารอีกครั้ง

เรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรหาบทสรุปให้ได้จากการอภิปรายครั้งนี้ก็คือวิธีการปกป้องและรักษาประชาธิปไตย

เนื่องจากกลายเป็นประเด็นที่ถูกทำให้เข้าใจผิดหรือบิดเบี้ยวมาอย่างยาวนาน ทั้งที่เป็นสาเหตุให้เกิดการรัฐประหารอยู่เป็นระยะ จนทำให้พัฒนาการด้านประชาธิปไตยอ่อนด้อยลง และสวนทางกับอารยประเทศ

คำชี้แจงว่าการยึดอำนาจหรือรัฐประหารเป็นทางออกหรือทางแก้ไขวิกฤตทางการเมือง ไม่ควรนำมาใช้แก้ตัว แก้ต่าง หรืออ้างเป็นบุญคุณอีกต่อไป

หลังจากความจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ว่าวิธีการที่บั่นทอนและทำลายประชาธิปไตยไม่มีทางรักษาหรือพัฒนากระบวนการประชา ธิปไตยได้

บทเรียนที่คนไทยรับรู้ร่วมกันคือ ความวุ่นวายหรือวิกฤตทางการเมืองที่มาจากความขัดแย้งต้องยุติด้วยกระบวนการทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนตัดสินใจ และยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นทางออก

ส่วนกองทัพมีหน้าที่สนับสนุนให้กระบวนการนั้นดำเนินต่อไป ไม่ใช่เข้าแทรกแซงเอง เพราะนั่นหมายถึงการตัดสิทธิ์ตัดเสียงและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ในเมื่อรัฐบาลและสภาผู้แทนฯ ชุดปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงควรสำนึกและเคารพในเสียงของประชาชนทั้งหมด

ยอมรับความผิดพลาดที่ส่งผลร้ายแรงต่อประชาธิปไตย ดีกว่าดื้อรั้นเผยแพร่ความคิดที่ไม่ถูกต้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน