บทบรรณาธิการ

เหตุการณ์ที่ทางการไทยส่งกลับโจชัว หว่อง แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนประชาธิปไตย ไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ไม่เพียงเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในแง่มุมของการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า เส้นแบ่งทางพรมแดนประเทศนั้นจางลง เมื่อเทียบกับเส้นแบ่งกั้นทางความคิด

มุมมองที่แตกต่างกันในกรณีนี้ไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างไทยกับจีน

แต่เป็นระหว่างกลุ่มผู้เชื่อมั่นใน สิทธิเสรีภาพทั้งในไทยและฮ่องกง กับ เจ้าหน้าที่รัฐของไทยและจีน

กรณีนี้เป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่ไทยมักใช้เหตุผลและดุลพินิจที่มุ่งจำกัดอยู่ในเรื่องความมั่นคง จนอาจไม่ได้มองปัจจัยอื่นอย่างรอบด้าน

โจชัว หว่อง เป็นนักศึกษาที่อายุ 19 ปี เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผยชัดเจนมาตั้งแต่สองปีก่อน ไม่มีกลุ่มติดอาวุธใดๆ ในสังกัด และไม่เคยเชื่อมโยงกับกลุ่มความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์หรือศาสนา

แม้เคยถูกตัดสินมีความผิดในการละเมิดกฎหมายการชุมนุมในฮ่องกงเมื่อปี 2557 แต่บทลงโทษที่ศาลพิพากษาเป็นเพียงการบำเพ็ญประโยชน์

การเดินทางมาไทยครั้งนี้มาตามคำเชิญของกลุ่มวิชาการในไทย วาระรำลึก 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อปาฐกถาในฐานะเป็นผู้นำการเมืองรุ่นใหม่

อันเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชีย

จากคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ห้ามการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง โดยจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมิได้ห้ามจัดการเสวนา 6 ต.ค. ชาวจุฬาฯมองอนาคต โดยนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

แต่การที่โจชัว หว่อง หมดโอกาสที่จะเข้า ร่วมงานดังกล่าวคำอธิบายนี้ไม่ได้ทำให้ข้อสงสัยหมดไป

โจชัว หว่อง อาจไม่ใช่บุคคลที่รัฐบาลไทยต้องการห้ามการแสดงออก แต่สำหรับรัฐบาลจีนแล้ว โจชัว หว่อง เคยปรากฏอยู่ในสื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์วางตัวไว้เป็นปรปักษ์กับทางการ

สิ่งที่รัฐบาลไทยถูกจับจ้องจากนานาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีนี้ จึงเป็นความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน