เหลื่อมล้ำหนักกว่าเดิม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เหลื่อมล้ำหนักกว่าเดิม – ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ในการอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้านที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาล

เป็นประเด็นที่ไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนและไม่มีคำอธิบายหรือโต้แย้งที่หักล้างได้อย่างเด็ดขาด

สัปดาห์นี้ ธนาคารโลกเพิ่งเผยแพร่รายงานวิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ระบุว่าความยากจนที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่แย่ลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สังเกตได้จากการที่ไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนา จีดีพีไทยปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่ำสุดในภูมิภาค

การวิเคราะห์ดังกล่าว ธนาคารโลกใช้ตัวเลขและสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐระหว่าง ปี 2558-2561

ผลออกมาว่า อัตราความยากจนของประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.21 เป็นร้อยละ 9.85

หรือเพิ่มจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 กระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัด ทั่วประเทศ

โดยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 คนในแต่ละภาค

แม้มูลค่าการค้าชายแดนอยู่ในส่วนที่นำรายได้เข้าประเทศ แต่รายงานของธนาคารโลก ระบุว่า จังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงสุดส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตาก รวมถึงอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งในภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนใต้

เนื่องจากการค้าโลกอ่อนตัวลงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะหดตัว และภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุด

รายได้ที่แท้จริงจากภาคเกษตรและภาคธุรกิจลดลงทั้งในกลุ่มที่อาศัยอยู่เขตชนบทและเขตเมือง

อีกทั้งความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นสำคัญของไทยที่ความมั่งคั่งยังไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40

รายงานนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายได้ว่า เหตุใดจึงมีกลุ่ม “ผีน้อย” ที่ออกไปดิ้นรนยังต่างแดนจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน