คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กรณีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เตรียมพิจารณารายงานเสนอให้ทบทวนปรับแก้รัฐธรรมนูญให้ทันสมัยใน 10 ปีแรก เป็นประเด็นแปลกใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

เหตุผลของข้อเสนอนี้ระบุว่าเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองเมื่อใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว อีกทั้งสังเกตจากในอดีตเมื่อรัฐธรรมนูญมีอายุราว 10 ปีแล้วมักเกิดปัญหา ถูกอ้างว่ากลายเป็นทางตัน

แนวคิดดังกล่าวนี้จะเสนอเป็นหลักการในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และหากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

น่าสนใจว่าจะลงเอยอย่างไร

หากไปตามข้อเสนอนี้หมายความว่าประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติที่ตีกรอบขีดเส้นไว้นาน 20 ปี

ส่วนข้อกำหนดต่างๆ ในรัฐธรรมนูญมีระยะเวลาสั้นกว่าครึ่งหนึ่งคือ 10 ปี

ทั้งสองเรื่องนี้กินระยะเวลายาวนาน มีลักษณะผูกขาด จากเดิมที่เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ยากยิ่งอยู่แล้ว

ประเด็นสำคัญคือ ข้อเสนอทั้งสองเรื่องนี้กำหนดโดยคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับสร้างเงื่อนไขข้อกำหนดและตีกรอบอนาคตกับประชาชนอย่างเข้มงวด

แม้แต่กระทั่งว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใดก็ต้องกำหนดไว้ด้วย

กรณีที่การเมืองจะติดล็อก หรือเข้าสู่ทางตันนั้นเป็นเรื่องที่ย่อมเป็นไปได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าจะให้อำนาจประชาชนตัดสินใจหาทางออกได้หรือไม่

ปัญหาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือในทุก 10 ปีที่เกิดขึ้นล้วนมาจากคณะบุคคลที่พยายามจะตัดสินใจแทนประชาชน พยายามจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่จัดแจงแก้ไขปัญหาให้ทุกเรื่อง

ทั้งที่ประชาชนควรจะต้องเรียนรู้ผิดถูก ประนีประนอม และปรองดองกันให้ได้

แน่นอนว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่การคิดถึงแต่ความสมบูรณ์นั้นเองเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน