หน้ากากอนามัย

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

หน้ากากอนามัย – น้าชาติ หน้ากากอนามัยใครเป็นผู้คิดค้น

ขนมปัง

ตอบ ขนมปัง

มีคำตอบในบทความกำเนิดหน้ากากป้องกันโรคระบาด ใช้ในวงกว้างยุคราชสำนักจีนรับมือโรคระบาดแมนจูเรียโดย สิทธิโชค ชาวไร่เงิน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com ว่า ในอดีต การใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อเกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 เวลานั้น กาฬโรค (Black Death) กำลังระบาดไปทั่วยุโรป

คนกลุ่มหนึ่งที่คอยทำหน้าที่ควบคุมจัดการโรคคือ หมอโรคระบาด (Plague Doctor) ซึ่งเวลาที่พวกเขาไปทำงาน ก็จะใส่เครื่องแต่งกายที่ประกอบด้วยผ้าคลุมยาวปกปิดทั้งตัวตั้งแต่หัวถึงเท้า ถุงมือ รองเท้าบู๊ต หมวกปีกกว้าง และอุปกรณ์ที่สำคัญคือหน้ากากที่มีรูปร่างคล้ายส่วนหัวของนก

หน้ากากอนามัย

หน้ากากนี้จะมีจะงอยคล้ายปากนกติดอยู่ด้านหน้าและมีซิปรูดเปิดปิดได้ด้วย ตาเป็นทรงกลม เจาะรู มีกระจกกั้นคล้ายแว่นตา เปิดปิดได้ ภายในหน้ากาก โดยเฉพาะบริเวณจะงอย หมอโรคระบาดจะใส่บรรดาดอกไม้และสมุนไพรเอาไว้เพื่อไม่ให้อายพิศม์ (miasma) หรืออากาศพิษ

ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคในเวลานั้นเข้าสู่ร่างกายได้ คล้ายกับที่เราใช้หน้ากากอนามัยเพื่อกรองอากาศเสียและฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในปัจจุบันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการใช้หน้ากากป้องกันโรคในวงจำกัดเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่การใช้โดยผู้คนจำนวนมากปรากฏชัดในต้นศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับโรคระบาดแมนจูเรีย (Manchurian Plague)

ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1910 ในเมืองหลายแห่งที่เป็นเขตรอยต่อระหว่างประเทศจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากเมืองแมนโจวลี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมองโกเลีย) แล้วก็ลามไปยังเมืองฮาร์บิน (มณฑลเฮยหลงเจียง ประเทศจีน) และระบาดไปยังเมืองอื่นๆ ที่ทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ตัดผ่าน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหมือนคนเป็นโรคปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย และที่น่ากลัวที่สุดคืออัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 100% แปลว่าใครก็ตามที่ติดเชื้อล้วนเสียชีวิตทั้งหมด การควบคุมโรคทำได้ยาก เพราะภูมิภาคแมนจูเรียนั้นเป็นพื้นที่สู้รบกันอยู่ระหว่างมหาอำนาจจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ประมาณการกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 60,000 คน

ในช่วงเวลานั้น ราชวงศ์ชิงที่ปกครองจีนอยู่ได้แต่งตั้งนายแพทย์หนุ่มเชื้อสายจีนมาเลย์คนหนึ่งให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดดังกล่าว เขาชื่อว่า Wu Liande (บางแห่งสะกดว่า Wu Lien-Teh ชื่อเดิมคือ Ngoh Lean Tuck เมื่อเดินทางมาจีนเมื่อปี 1908 จึงเปลี่ยนชื่อ)

นายแพทย์ Wu เกิดวันที่ 10 มีนาคม ปี 1879 ที่เมืองปีนัง ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นอาณานิคมหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ ในปี 1896 เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม เขาก็สอบได้ทุนราชินีของรัฐบาลอังกฤษไปเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

จนกระทั่งปี 1903 เรียนจบกลับมาทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยทางการแพทย์ ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ความสนใจหลักในเวลานั้นคือผู้ป่วยจากการขาดวิตามินบี 1 และโรคจากพยาธิตัวกลม เขาทำงานที่อยู่นั่นจนกระทั่งปี 1910 สำนักงานกิจการต่างประเทศของรัฐบาลราชวงศ์ชิงก็เชิญตัวไปที่เมืองฮาร์บิน เพื่อดูการระบาดโรคที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนัก และท้ายสุดก็แต่งตั้งเขาให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้

ฉบับพรุ่งนี้ (10 มี..) พบกับการคิดค้นของ นายแพทย์ Wu อันมีคุณูปการยิ่งต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชาชน

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน