คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังเกิดเหตุระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 3 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ออกมาระบุว่า ถ้าหากบ้านเมืองไม่สงบจะยังไม่มีการเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมามากมาย

นักวิชาการ และอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีความเห็น ดังนี้

พล.ท.พงศกร รอดชมภู

อดีตรองเลขาธิการ สมช.

ถ้อยคำแบบนี้ จะกลายเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับตัวนายกฯเอง ว่า คสช. อยากอยู่ในอำนาจต่อไปยาวนานกว่าโรดแม็ปที่ตัวเองวางไว้

รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า เหตุระเบิด 3 ครั้ง ในรอบ 2 เดือน ช่วงวันสำคัญทางการเมือง เป็นการจัดฉาก สร้างเรื่องขึ้นมา เพื่อต้องการอยู่ต่อไป

เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจนายกฯ อยู่เหมือนกัน เชื่อว่านายกฯคง ไม่ได้อยากอยู่ต่อ แต่ในเมื่อพูดแบบนี้ออกมาก็หลีกเลี่ยงการตั้งคำถามของสังคมไม่ได้

ด้านฝ่ายความมั่นคงที่กำลังคลี่คลายสถานการณ์ แล้วระบุว่า โกตี๋-นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แกนนำเสื้อแดง อาจมีเอี่ยวอีกครั้ง ยิ่งทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ ที่ผ่านมาชื่อ โกตี๋ ถูกฝ่ายความมั่นคงนำมาใช้แล้วกี่ครั้ง แล้วผลที่ออกมาเป็นอย่างไร

การให้ข้อมูลต่อสังคมที่กลับไปกลับมากล่าวหาบุคคลโดยไม่มีหลักฐาน สะท้อนถึงการข่าวกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้ ไม่ได้ ความน่าเชื่อถือของคสช.จะยิ่งตกต่ำลงมากเสียกว่าสัญญาจะให้มีการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2558 แต่จนกลางปี 2560 แล้วไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นเสียอีก

ประชาชนอาจถูกหลอกได้ 2 ครั้ง แต่ครั้งที่ 3 เชื่อว่าหลายคนคงรู้ตัว และจะไม่ยอมถูกหลอกอีกต่อไป

คสช.ไม่ได้ต้องการให้มีการเลือกตั้ง หากมีเหตุหรือสถานการณ์อะไร จะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างให้เลื่อนออกไปทันที

ผลกระทบที่ตามมา จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ จนดึงได้ยาก แล้วทิ่มลงลึกมากลงไปทุกที รอคอยวันกลายเป็นประเทศยากจน

ต่อให้มีการเลือกตั้ง แล้วยังมีความพยายามสืบทอดอำนาจโดยคสช.ต่อไป ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จะยังไม่มี

ระเบิดการเมืองในช่วง 2 เดือนนี้ สะท้อนว่า ขั้วอำนาจยังปะทะกันไม่จบ ข่าวลือเรื่องกระแสการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในรัฐบาล ที่รวมไปถึงการเปลี่ยนตัวนายกฯ ดูเหมือนจะมีน้ำหนักมากขึ้น

แต่คำถามที่ต้องตอบให้ได้คือ ใครจะมาเป็นนายกฯ ผบ.ทบ.จากหน่วยรบพิเศษ เหมาะสมหรือไม่ ลำพังบูรพาพยัคฆ์ นายทหารบ้านนอก ควบคุมอยู่ เศรษฐกิจยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วหน่วยรบพิเศษที่เชี่ยวชาญการใช้กำลัง จะมีความรู้ความสามารถหรือไม่

การผลักดันความปรองดองของป.ย.ป.ที่มีกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ ที่มีกำหนดการจะเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับฝ่ายการเมืองช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ จะเห็นการปรับดุลอำนาจของแต่ละขั้วหรือไม่นั้น ส่วนตัวเชื่อว่าไม่

การสร้างความปรองดองไม่ได้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจริงใจจะผลักดัน มีแต่การใช้ถ้อยคำหรูหรา เรียกว่า เป็นการลงนาม ?สัญญาประชาคม? แต่ไม่ได้รู้ความหมายว่าสัญญาประชาคม คือเจตจำนงร่วมกันของประชาชน ที่จะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองอะไร

ในโลกตะวันตกหลายยุคหลายสมัย มีทั้งระบอบกษัตริย์ ระบอบประชาธิปไตย ถามว่า ทหารเป็นนักทฤษฎีสำนักไหน จะสร้างระบอบการปกครองอะไร

สุดท้ายไม่ว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่การเลือกตั้งคือสิ่งที่เขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอยู่ดี

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดว่าถ้าบ้านเมืองยังไม่สงบก็ยังไม่ต้องมีการเลือกตั้งนั้น เข้าใจว่าคงพูดแบบไม่ได้จริงจังอะไร เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป แม้ช่วงเวลาอาจจะเคลื่อนออกไปบ้าง แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลูก เข้าใจว่าดำเนินการเสร็จแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ส่วนร่างกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. อยู่ระหว่างการดำเนินการ จะเห็นว่าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน เพื่อ เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำของผู้ที่ไม่หวังดี เหมือนเป็นการท้าทายรัฐบาลและคสช.ว่าสามารถควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบได้หรือไม่

ขณะที่พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ออกมาระบุว่ารู้ตัวผู้ที่ก่อเหตุความไม่สงบแล้วว่าเป็นพวกฮาร์ดคอร์ จะเห็นว่าทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างประสานการทำหน้าที่ร่วมกัน ทางสนช.ก็พิจารณาออกกฎหมายลูกไปด้วย เชื่อว่าถึงอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้ง

ส่วนตัวไม่เชื่อว่ารัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้น เพื่อหวังที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป เชื่อว่ามีวิธีการอีกมากมายหากต้องการซื้อเวลาอยู่ต่อ เช่น ประวิงเวลาในการออกกฎหมายลูก หรือแก้ไขรายละเอียดของกฎหมายในหลายๆ มาตรา เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น เพราะหากรัฐบาลทำ ก็จะลำบากเอง

การเลือกตั้งอาจจะล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากความล่าช้าในการมีรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การออกกฎหมายลูกต้องล่าช้าออกไปด้วย แต่หากรัฐบาลยังจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก เชื่อว่าอาจจะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน

ทั้งด้านการยอมรับจากนานาชาติ เพราะความเป็นประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สากลยอมรับ และอาจส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเกิดความไม่มั่นใจ

ดังนั้นโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่นานาชาติเฝ้าดูอยู่ และเชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งสภาพเศรษฐกิจและการเมืองน่าจะดีขึ้น

อนุสรณ์ อุณโณ

คณบดีคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

การที่นายกฯ พูดเมื่อครบรอบ 3 ปี คสช.ว่าถ้าบ้านเมืองไม่สงบจะไม่มีการเลือกตั้งนั้นเป็นการพูดหลังจากเกิดเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแล้ว และคงรวมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน

ปฏิกิริยาที่นายกฯแสดงออกมาคงเกิดขึ้นหลายลักษณะ เพียงแต่เป็นช่วงครบรอบ 3 ปี คสช.และมีกระแสหลายส่วนกดดันให้คสช.และรัฐบาลคืนอำนาจให้กับสังคมซึ่งมีการทวงถามว่าสัญญาที่เคยให้ไว้โดยเฉพาะจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ รัฐบาลผัดไปเรื่อย แต่ถูกถามตลอด นายกฯก็พยายามหาทางตอบ

พอดีเกิดเหตุระเบิดขึ้นก็อาศัยจังหวะนี้เลี่ยงตอบคำถามว่าถ้ายังไม่สงบก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง เอาเรื่องนี้เป็นเหตุผลในการที่จะไม่ปฏิบัติตามโรดแม็ป

สภาวะจะคงอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาแม้ไม่มีการเคลื่อนไหว แต่ความขัดแย้งไม่ได้หายไป เหมือนกับกลุ่มคนก็ถูกกดเอาไว้ เพื่อรอเวลาปะทุขึ้นมา ขณะที่กลุ่มคนให้ทหารเข้าแทรกแซงโดยหวังว่าเป็นภาวะชั่วคราว ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเห็นว่ามีหลายกลุ่ม ทั้งภาคประชาชน ชนชั้นกลาง ระยะหลังกระจายไปทั่วเพียงแต่ไม่พัฒนาเคลื่อนไหว เหมือนก่อน 3 ปีที่แล้ว และกลุ่มที่หนุนก็เริ่มเอาใจออกห่างไปเรื่อยๆ

ดังนั้นการจะอ้างมีระเบิดแล้วบอกอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วควรจะรีบไปโดยเร็วที่สุด เพราะเห็นถึงความขัดแย้งตรงนี้ ความไม่พอใจที่ออกมาในรูประเบิด จากเดิมออกมาอยู่บนท้องถนน

การที่นายกฯพูดอย่างนี้มีผลต่อตัวเองเหมือนกัน ที่ผ่านมาตอนมีอำนาจเต็มมือ คงไม่มีใครระดมคนมาบนท้องถนน แต่เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นตอนนี้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะอยู่ต่อ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้ความขัดแย้งที่ออกมาเป็นหลายรูปแบบ โดยไม่มีการเตรียมตัวอะไร ซึ่งต้องรับผิดชอบที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

ปัจจุบันไม่มีกลไกในการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติ เดิมสังคมมีผลประโยชน์ที่ขัดกันอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมามีเวทีทางการเมือง ให้ได้วิวาทะถึงเหตุผลและหลักการ แต่เมื่อไม่มีกลไกตัวนี้ ทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่สังคมไม่สามารถแสดงออกมาได้ จึงออกมาในรูปความรุนแรง

ดังนั้นวิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือการคืนเวทีการเคลื่อนไหว ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ส่วนใหญ่เหตุที่เกิดขึ้นยังจับตัวคนทำผิดมาลงโทษไม่ได้ นายกฯหรือรัฐบาล ลอยตัวไปเรื่อยๆ ก็อยู่ในภาวะเช่นนี้ตราบที่ประเทศไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ฝ่ายที่ขุ่นเคืองก็ต้องการให้คืนเวทีให้เขาสามารถแสดงออกถึงความไม่พอใจในปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งเป็นช่องทางของสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการทหาร

ถ้าเลื่อนเลือกตั้ง คิดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยไปเรื่อย เราเห็นอยู่ว่าตัวเลขการลงทุนก็ลดลง เงินไหลออก ความเชื่อมั่นต่างประเทศหายไปเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกจะทำลายความเชื่อมั่น

ทางที่ดีที่สุดคือคืนภาวะปกติให้สังคม และปัญหาต่างๆ ต้องจับมาเจรจาบนโต๊ะโดยสันติ ไม่เช่นนั้นจะอยู่อย่างนี้

อนุสรณ์ ธรรมใจ

รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ต้องแยกให้ชัดเจนว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่สงบ เป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ต้องควบคุม แสวงหาข้อเท็จจริง หาคนผิดมาลงโทษให้ได้โดยที่ไม่ใช่แพะ

ถ้าทำได้จะทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ทั้งหลักนิติรัฐ เศรษฐกิจ และการลงทุน กลับมาดีขึ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ก็น่าเป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่น

ส่วนถ้าจับคนทำผิดไม่ได้รัฐบาลก็ควรแสดงความรับผิดชอบ แต่ไม่จำเป็นต้องไปบอกให้รัฐบาลลาออก เพราะการที่รัฐบาลมาบริหารประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประชาชนถือเป็นจุดอ่อนอยู่แล้ว เมื่อบริหารแล้วมีปัญหาก็ต้องรับผิดชอบ

แต่เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ก็ไม่ต้องให้ลาออก เพราะประเทศจะเกิดการผันผวน แต่ให้เดินตามโรดแม็ปสู่การเลือกตั้งก็พอ จึงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และการสร้างความปรองดอง

หากเกิดสถานการณ์แล้วปรับเปลี่ยนตลอด อาจทำให้ประชาชนคิดได้ว่าสร้างสถานการณ์หรือไม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสร้างสถานการณ์ แต่อาจมีการนำไปเชื่อมโยงว่าทำไมพอเกิดเหตุ กล้องซีซีทีวีมักใช้การไม่ได้ และเหตุใดจึงเกิดเหตุในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งคนทั่วไปอาจเกิดความวิตกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งจริงๆ หรือไม่

ส่วนเหตุผลที่ระบุว่า หากยังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ อาจจะยังไม่มีการเลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง หรือแม้แต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงกว่านี้ ก็ต้องเดินหน้าเลือกตั้ง เพราะเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของรัฐบาล

อีกทั้งประเทศต้องเดินหน้าบนเส้นทางประชาธิปไตย สันติวิธี โดยยึดเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ จะถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดของบ้านเมือง หากมีการสร้างสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ไม่มีทางที่ประเทศจะเป็นปกติ

การกลับสู่ประชาธิปไตย มีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และความน่าเชื่อถือในตัวนายกฯ และรัฐบาล

หากคสช.คิดสืบทอดอำนาจ ส่วนตัวก็ไม่ติดใจ แต่ขอให้มาตามวิถีทางที่ ถูกต้อง ซึ่งการเลือกตั้งเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพราะประเทศต้องอยู่ด้วยระบบ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน