คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การตั้งคำถามของผู้นำประเทศให้ประชาชนตอบเพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นการเก็บข้อมูลทางหนึ่ง แม้ว่าไม่ได้ครอบคลุมเท่ากับการเลือกตั้งที่เป็นกลไกอย่างเป็นทางการ

ผู้นำหลายๆ ประเทศนิยมตั้งบัญชีในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เพื่อให้ประชาชนเขียนเข้ามาแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยมีทีมงาน คัดกรอง แยกประเภทข้อมูล

ข้อมูลดังกล่าวนี้อาจนำไปใช้สำหรับการวิเคราะห์กระแสสังคมที่ไม่เป็นทางการ เพราะการตอบคำถามมาจากความสมัครใจของประชาชน

เป็นข้อมูลเสริมนอกเหนือจากการสะท้อนผ่านสื่อมวลชน องค์กรประชา สังคม พรรคการเมือง ฯลฯ

คําถาม 4 ข้อของผู้นำไทยที่มีการเชิญชวนให้ตอบในขณะนี้ เป็นคำถามที่ขอความคิดเห็นทั่วไปเกี่ยวกับการเมืองในอนาคต

มีหนึ่งข้อเป็นเรื่องยุทธศาสตร์และการปฏิรูปว่าควรมีหรือไม่ ส่วนข้ออื่นๆ เน้นไปที่ตัวบุคคลและคณะบุคคลมากกว่าระบบ

ส่วนเส้นทางของการตอบคำถามคือให้ประชาชนส่งมาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมส่งมา

หากเป็นไปตามนี้คือให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่รวบรวมและจัดข้อมูล

เป็นเหมือนการทำงานตามระบบราชการด้านหนึ่ง

รัฐบาลคาดหวังว่าการเปิดให้ตอบคำถามครั้งนี้จะเป็นการรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยแท้จริง

แม้ว่าที่ผ่านมาการแสดงความเห็นหรือร้องเรียนความเดือดร้อนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ไม่ใช่ทางเลือกของประชาชนในหลายกรณี ด้วยเงื่อนไขของกระบวนการที่ต้องพึ่งพาข้าราชการเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการตั้งคำถามครั้งนี้คือไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องตอบ

อย่างน้อยก็ยังมีทางเลือกให้กับประชาชน ว่าต้องการหรือไม่ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมตอบคำถามนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน