คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ในงานประชุมข้าวนานาชาติ ที่กรุงเทพฯ มีความเห็นที่เป็นข่าวดีจากบรรดาผู้ค้าข้าวระดับโลกว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดข้าว อีก 3 เดือนข้างหน้า ราคาข้าวขาวต่อตันจะขึ้นได้ 20 เหรียญหรือราว 700 บาท จากราคาปัจจุบัน 425 เหรียญ หรือราว 14,875 บาทต่อตัน

แนวโน้มนี้เป็นไปตามกลไกตลาดที่ปริมาณการบริโภคสูงกว่าการผลิต โดยเฉพาะความต้องการซื้อจากจีนเป็นกุญแจสำคัญ บวกกับความต้องการจากภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง

การประชุมดังกล่าวนี้เปิดตัวเลขคาดการณ์ว่าปี 2560 ผลผลิตข้าวโลกอยู่ที่ 481.5 ล้านตัน การบริโภคของโลกอยู่ที่ 478.7 ล้านตัน ขณะที่ปี 2561 ผลผลิตจะลดลงที่ 481.3 ล้านตัน การบริโภคเพิ่มเป็น 480.1 ล้านตัน แสดงว่าความต้องการข้าวจะเพิ่มขึ้น

พร้อมระบุว่า หากไทยส่งออกได้เพิ่ม จาก 10 ล้านตันเป็น 15-20 ล้านตันต่อปีจะเป็นผลดี

ความต้องการในตลาดข้าวของโลกที่สูงขึ้น ดังกล่าวมาพร้อมกับการประกาศผลงานของรัฐบาลว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้ ระบายข้าวได้ 13 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

เป็นการแก้ปัญหาข้าวคงเหลือในสต๊อกที่มีผล กระทบกับวงจรข้าวและการค้าข้าวในช่วง 2-3 ปี

สต๊อกดังกล่าวเป็นที่ทราบว่าเป็นผลค้างคามาจากช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเคยประสบปัญหาอย่างหนักจากการถูกกระทำในลักษณะถูกจับเป็นตัวประกัน ระหว่างเกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ถึงขั้นขัดขวางการจ่ายโอนเงินในบัญชีชาวนาตามโครงการจำนำข้าว

การกระทำดังกล่าวจึงไม่ควรเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าวิธีการจำนำข้าวจะกลับมาหรือไม่

คําแนะนำที่น่าสนใจจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคือการปรับวิธีการลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้น

จากตัวเลขสถิติการผลิตข้าวระดับโลก มีค่าเฉลี่ยที่ 4.2 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี แต่ของไทยผลิตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยอยู่ที่ปริมาณ 2 ตันกว่าต่อเฮกตาร์ จึงเสนอให้ทำสำรวจทางอากาศ วางแผนการใช้พื้นที่ การบริหารจัดการ เพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตให้ได้ พร้อมกับการใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าตลอดกระบวนการปลูกจนถึงโต๊ะอาหาร

ภารกิจนี้ควรลงมือทำได้เลย เพราะไม่ต้องอาศัยสถานการณ์ตลาดโลกแบบการระบายข้าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน