ร่วมมืออย่างไร : บทบรรณาธิการข่าวสด

ร่วมมืออย่างไร : บทบรรณาธิการข่าวสด – สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ประชาชนหวั่นไหวว่าจะยกระดับสู่ระยะ 3 หมายถึงการระบาดใหญ่ในประเทศนั้น ผู้นำรัฐบาลมีแถลงการณ์ออกมาเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน

ระบุให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาล อย่าตื่นตระหนก มีสติ ระมัดระวัง รับผิดชอบรักษาสุขภาพตนเอง ผู้อื่น และสังคม

อย่างไรก็ตาม คำแถลงนี้ไม่ได้ระบุว่าจะให้ร่วมมืออย่างไร เพราะไม่ชัดเจนว่าแผนงานของรัฐบาลคืออะไร จะมีระบบการตรวจคัดกรองอย่างไร จะใช้มาตรการแต่ละขั้นอย่างไร เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนแตะ 100 คน หรือ 1,000 คน

ผู้นำรัฐบาลกลับแถลงเรื่องโควิด-19 รวมกับภัยแล้ง และปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ซึ่งแต่ละเรื่องมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ แตกต่างกัน

กรณีภัยแล้ง ผู้นำรัฐบาลระบุว่า ดำเนินแผนบริหารจัดการน้ำมาแล้ว 5 ปี ได้แก่ การ ขุดเจาะน้ำบาดาล จะเพิ่มการเก็บกักน้ำได้จำนวนมากหากฝนตกตามพื้นที่ตามฤดูกาลที่คาดการณ์ไว้

แต่ไม่ได้ระบุว่า ช่วงที่ฝนยังไม่ตก หรือตกในระดับที่ยังเก็บกักน้ำไม่ได้ มีมาตรการรับมืออย่างไร

ที่ผ่านมา แนวทางที่ประกาศชัดและบ่อยคือเตือนชาวนาอย่าปลูกข้าวนาปรัง แต่ไม่มีคำรับประกัน ว่าเมื่อเกษตรกรล้มเลิกการปลูก หรือ หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแล้วจะมีผลผลิตที่ขายเลี้ยงชีพได้หรือไม่

ส่วนการรณรงค์ให้คนเมือง หรือชนชั้นกลางขึ้นไป ประหยัดการใช้น้ำที่เคยใช้อย่างสุขสบาย ให้ตระหนักถึงความร่วมมือนี้อย่างจริงจัง ได้รับความร่วมมือแล้วหรือไม่

สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ ทั้งเรื่องภัยแล้ง โควิด-19 หรือ เศรษฐกิจ ประชาชนเพียงรับทราบตัวเลขสถิติจากทางราชการ

เช่น ปริมาณน้ำในเขื่อน จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ตัวเลขการปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

แต่ในชีวิตประจำวัน หลายคนต้องดิ้นรนหาหนทางรับมือกันเอง เช่น เกษตรกรต้องจ้างรถจ่ายน้ำเข้าเรือกสวนไร่นา ผู้ต้องการป้องกันภัยโควิดต้องขวนขวายหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ทุกทาง เพราะปริมาณมีจำกัด หรือบางแห่งไม่มี ฯลฯ

ในเมื่อรัฐบาลขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ไปได้ด้วยดี ก็ควรบอกด้วยว่าได้เตรียมวิธีบริหารจัดการไว้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน