ตระหนก-ตระหนัก

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ตระหนก-ตระหนัก – คําแนะนำที่ได้ยินบ่อยจากเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังรับมือสถานการณ์โควิด-19 คือตระหนัก- อย่าตื่นตระหนก

คำแนะนำนี้ดีก็จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้วคน จะไม่ตื่นตระหนก เมื่อรู้ทันสถานการณ์ และรู้สึกว่าได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐบาล เมื่อเผชิญเหตุการณ์ระดับประเทศ หรือวิกฤตการณ์ระดับโลก

นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลจะกำกับดูแลสิ่งของจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับป้องกันโรคภัย อย่างหน้ากาก เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ

นั่นหมายถึงด้วยว่า หากมีการจำกัดการเดินทาง หรือปิดบริเวณ ประชาชนจะยังหาซื้ออาหาร-น้ำสำหรับการบริโภคได้

ชีวิตประจำวันจะดำเนินต่อไปได้

สําหรับคนที่วิตกว่าตนเองจะติดไวรัสแล้วหรือไม่ ควรได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนว่าควรต้องปฏิบัติตัวเช่นไร นอกเหนือไปจากการอ่านข่าวที่พบว่าหากไปตรวจล่วงหน้าโดยไม่มีอาการต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง 7,000-8,000 บาท หรือมากกว่านั้น

หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวติดไวรัส หรือป่วยโรคโควิด-19 หมายความว่าทุกคนจะได้รับการรักษา มีแพทย์และโรงพยาบาลพร้อมที่จะดูแล

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์มีอุปกรณ์การแพทย์เพียงพอ และไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากคนไข้เอง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรอธิบายและให้คำมั่นกับประชาชนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อให้อาการตื่นตระหนกของคนในสังคมลดลง

ปัจจุบันหากรัฐบาลประเมินสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา จะเข้าใจได้ว่าเมื่อประชาชนเกิดความวิตกกังวลสะสม ยิ่งอัตราการระบาดของเชื้อขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกได้ง่าย

สังเกตได้จากการกวาดซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเกลี้ยงแผงขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หาซื้อไม่ได้ง่าย

การที่รัฐบาลยืนกรานว่า จะยังไม่ประกาศสถานการณ์โควิดเข้าสู่ระยะ 3 เพราะมีผลกระทบหลายด้าน ควรแจกแจงข้อมูลและมาตรการให้ชัดเจน

ไม่ควรให้ประชาชนคลางแคลงใจว่าสิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง เป็นเรื่องเดียวกับที่ประชาชนห่วงหรือไม่

นาทีนี้ควรเข้าใจตรงกันว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน