คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ในงานสัมมนาวิชาการว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่สหประชาชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ น่ายินดียิ่งว่ามีคำมั่นจากรัฐบาลไทยว่า จะขับเคลื่อนและเดินหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยการยึด 3 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการคุ้มครอง ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยา

เพราะทั้งสามเสาหลักนี้สำคัญมาก แต่จะยากหรือง่ายในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับสภาพและสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ต้องเปิดกว้างและมีเสรีภาพ

เพราะทั้งการคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา ต้องการความร่วมมือจากคนทั้งสังคมในการตรวจสอบ ทบทวน และแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง

สิ่งที่รัฐบาลพึงทำคือการส่งเสริม ให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตรวจสอบและยึดผลประโยชน์สิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

อุปสรรคส่วนหนึ่งของการรณรงค์คุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นคือความกลัวเกรงว่า จะกระทบต่อชื่อเสียงและหน้าตาของประเทศ รวมไปถึงกระทบผลประโยชน์ทางธุรกิจ

เช่น กรณีของการใช้แรงงานทาส การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลต่างเชื้อชาติศาสนา ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงยา การค้าบริการทางเพศ การใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้หลายครั้งถูกปิดกั้นในการนำเสนอทั้งในด้านงานวิจัยและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

ด้วยคำตำหนิว่าทำลายชื่อเสียงของประเทศ หรือจะกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

นอกจากเรื่องคุ้มครองแรงงาน และการป้องกันการค้ามนุษย์ที่มีกฎหมายปรับปรุงออกมาแล้ว สิทธิมนุษยชนยังเป็นเรื่องของความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิการ มีส่วนร่วมทางการเมือง และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ปราศจากความรุนแรง

ไม่ควรมีข้ออ้างด้านความมั่นคงมาบั่นทอนหรือก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางมาแล้ว เช่น เหตุรุนแรงทางการเมือง การสลายการชุมนุมที่เล็งเห็นผลว่าจะเกิดความสูญเสีย ควรต้องสอบสวนและเยียวยาอย่างจริงจังตาม 3 เสาหลักข้างต้น

ไม่เช่นนั้นการพูดถึงภารกิจส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีการปฏิบัติ จะกลายเป็นเรื่องสวยหรูโดยเปล่าประโยชน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน