ล็อกดาวน์

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ล็อกดาวน์ – จากเหตุการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อปี 2556 ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการขับไล่รัฐบาลโดยไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

มาถึงปีนี้ 2563 กรุงเทพฯ เข้าใกล้การล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง เนื่องจากเป็นแหล่งระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้มีผู้ป่วยโควิด-19 ถึงร้อยละ 80 ของ ผู้ติดเชื้อทั้งหมด

ทั้งสองเหตุการณ์ต่างมีสภาพตึงเครียดและผล กระทบที่แตกต่างกันไป แต่จุดร่วมที่คล้ายกันคือกรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลางของทุกอย่างที่สำคัญในประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เชื้อโรค

การตัดสินใจและการกำหนดทิศทางของประเทศจึงขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ

เช่นเดียวกับครั้งนี้ ทีมรับสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า การดูแลรักษาป้องกัน ให้การบริการผู้ป่วย ต้องเน้นพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก

การวิเคราะห์ของกรมสุขภาพจิต ประเมินคนไทยในสถานการณ์โควิด ว่ามี 3 ประเภทในแง่สุขภาพจิต

หนึ่ง กังวลน้อยเกินไป สะท้อนจากภาพที่ยังไม่ป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากาก และยังไปรวมกลุ่ม ทำให้เกิดความเสี่ยงรับและแพร่เชื้อ

สองกังวลมากเกินไป ทำให้รีบไปซื้อกักตุนข้าวของ รวมถึงเกิดความเครียด ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพกาย นอนไม่หลับ ทำให้ภูมิคุ้มกันตก

สาม กังวลในระดับพอดี ทำให้ตระหนักป้องกันตนเอง เช่น ล้างมือ สวมหน้ากาก ไม่ไปที่แออัด รู้ว่าตนเองจะทำอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญของกรมสุขภาพจิตประเมินว่า จำนวนคนที่เป็นกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง มีสัดส่วนสูงกว่า หรือร้อยละ 80 ส่วนกลุ่มที่สามมีเพียงร้อยละ 20

ดังนั้นในช่วงล็อกดาวน์นี้จึงจำเป็นต้องปรับสมดุลคนสองกลุ่มแรกให้มาสู่กลุ่มที่สามให้มากขึ้น

คําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เริ่มต้นตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการปิดสถานที่เสี่ยง สกัดผู้ป่วยเดินทางไปต่างจังหวัด ปรับพฤติกรรมใช้ชีวิต มีวินัย ลดออกนอกบ้าน รักษาระยะห่าง

ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขย้ำให้ประชาชนอยู่บ้าน ตามสโลแกนหยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมกับให้ต้องปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน

มาตรการดังกล่าวคาดได้ว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่มีใครอยากให้เชื้อลุกลาม จนระดับสถานการณ์น่าวิตกเหมือนประเทศในยุโรปที่เผชิญวิกฤตอย่างหนักหน่วง

กรุงเทพฯ ที่ผ่านการชัตดาวน์มาแล้วด้วยคนกลุ่มหนึ่งที่ทรงอิทธิพล การล็อกดาวน์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น จะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของคนในสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน