เมษาชี้ชะตาประเทศ’สู้โควิด-19

‘เมษาชี้ชะตาประเทศ’สู้โควิด-19 : เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายธีรยุทธ บุญมี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ออกบทความ ‘เมษาชี้ชะตาประเทศ’ ซึ่งเป็นการเสนอความเห็นเพื่อสู้สงครามไวรัส โควิด-19 ดังนี้

ช่วงที่คนไทยเรากำลังเคร่งเครียด วิตกกังวล ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมผมขอเสนอแง่คิดมุมมอง ที่มุ่งจะสร้างความหวัง ความเข้าใจต่อกันและกัน

1.ปัญหาโควิด-19 ต้องเข้าใจความเป็นสังคมของมนุษย์ สังคมไทยกำลังทำสงคราม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ร่วมกันทำกิจกรรมหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความเชื่อ กีฬา บันเทิง ฯลฯ แต่โรคระบาดแบบโควิด-19 เป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรค

ในภาวะสงครามเช่นนี้สิ่งพื้นฐานที่ต้องรักษาไว้ 3 ระดับ คือ 1.การดำรงชีวิตอยู่ในกลุ่มสังคมเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 2.การรักษาพื้นฐานการเป็นมนุษย์ และ 3. คือความเป็นรัฐชาติเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ เพื่อติดต่อสัมพันธ์กับชาติอื่น มิติอื่นๆ บางอย่างถูกตัดทิ้งไปก่อนหรือลดความสำคัญลงไป แต่บางอย่างก็ไม่ใช่เป็นการบังคับเด็ดขาด เช่น ความเห็นต่างทางมาตรการนโยบาย การเรียกร้องให้มาตรการเป็นธรรมทั่วถึงจากฝ่ายค้านหรือผู้คนทั่วไปก็ยังทำได้

2.เชื้อโรคโจมตีความเป็นสังคมของคน ต้องอาศัยพลังทางสังคม การปรับกระบวนทัศน์ใหม่ และการจัดระเบียบ การจัดการสังคมใหม่ เป็นมาตรการตอบโต้

ในอดีตมนุษย์อยู่เป็นกลุ่มขนาดเล็ก เวลาเกิดโรคระบาดมนุษย์อาจเลือกสลายสังคม แยกเป็น 2-3 ครอบครัว หนีขึ้นเขาเข้าป่า หรืออพยพทั้งกลุ่ม เช่น พระเจ้าอู่ทองโยกย้ายคนไปตั้งกรุงศรีอยุธยาฯ แต่ปัจจุบันเราเป็นสังคมใหญ่ มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ตั้งแต่การรวมกลุ่มขนาดใหญ่ด้วยความเชื่อ อารมณ์ ความตื่นเต้น เช่น การรวมกลุ่มทางศาสนา การแข่งขันมวย ฟุตบอล คอนเสิร์ต ฯลฯ การรวมกลุ่มทางการ เช่น องค์กร บริษัท หน่วยราชการ กึ่งทางการ เช่น การไปตลาด งานแสดงสินค้า นั่งรถสาธารณะ งานปาร์ตี้

ไวรัสจะโจมตีได้ทุกจุด เรามีทางเลือกเดียวคือต้องร่วมกันสู้ โดยทุกคนเป็นนักรบหมด ในช่วงที่เราใช้มาตรการสังคมคือการเก็บตัวอยู่ในบ้าน ที่จริงคือการเป็นแนวหน้าสุดในการต่อสู้กับศัตรู แต่ละวันที่เราอยู่บ้านเท่ากับช่วยกันเปิดเผยตัวตนของเชื้อโรคได้ทุกๆ วัน เมื่อครบ 14 วันตามทฤษฎีเชื้อโรคก็จะถูกเผยตัวได้หมด แต่ในความเป็นจริงจะมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งหลุดรอดไปได้ ถ้าใช้เวลา 1 เดือนก็ถือว่าน่าจะหลงเหลืออยู่น้อยมาก

โดยมีแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เป็นปราการแข็งแกร่งที่ทั้งสู้รบและบัญชาการและปกปักรักษาทุกคนด้วย

การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ มามองว่าเราเป็นฝ่ายกระทำมีความจำเป็น เพราะแทนที่จะรู้สึกเป็นฝ่ายรับ หดหู่ หมดหวัง โกรธเคืองแพทย์ พยาบาล หรือรัฐ เราจะมองในมุมกลับเป็นฝ่ายกระทำที่มีความมุ่งมั่น ความมั่นใจ และภูมิใจในการต่อสู้ร่วมกันของประชาชน แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข และทุกหน่วยงาน

3.มาตรการ Social Distancing หัวใจสู้โควิด-19

โดยปกติมนุษย์จะจัดระยะห่างทางสังคมว่าควรใกล้ชิด/ห่าง ทางการ/ไม่ทางการ เป็นกันเอง/ไม่เป็นกันเอง เป็น กติกามารยาททางสังคมที่กำหนดไว้แล้ว การสร้างระยะห่างทางสังคมขึ้นใหม่ (social distancing) นี้เป็นการขอเปลี่ยนความสัมพันธ์เดิมให้ห่างขึ้นเป็นแบบระมัดระวัง ไม่ใช่เพราะรังเกียจเดียดฉันท์

วัตถุประสงค์ของ Social Distancing คือไม่ให้เชื้อโรคมีโอกาสกระโดดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ที่ได้ผลสูงสุดคือการอยู่บ้าน การปิดห้าง ร้านอาหาร ออฟฟิศบางส่วน เพราะเท่ากับปิดไม่ให้มีการพบปะกันของผู้คนจำนวนมาก

จากนั้นคือการเว้นระยะ 2 เมตรหรือการสร้างอุปสรรคสกัดเชื้อโรค (social barrier) ไม่จับมือ ใช้หน้ากากอนามัย การตรวจสอบอุณหภูมิ หรือการใช้แอพฯติดตามตัว (tracing) การลดการพบปะทางสังคมโดยตรง (contact) เช่น การประชุม การรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งหมดเป็นการปิดล้อมบังคับศัตรูเปิดเผยตัวเพื่อทำลายล้างโรคในที่สุด

4.เม.ย.ชี้ชะตาประเทศ ต้องเข้มข้นขึ้น เจ้าหน้าที่บังคับใช้มาตรการจริงจัง 100%

การต่อสู้กับโรคระบาดมี 3 มาตรการตามลำดับความร้ายแรง ความรุนแรงน้อยสุดใช้วิธีติดตาม ตรวจสอบ รักษา (contact tracing, testing และ treat) ซึ่งไทย สิงคโปร์ เกาหลี จีน เก่งมาก และได้ผลสูง แต่เมื่อการติดต่อขยายตัวเกินกำลังการติดตาม ก็ต้องเพิ่มและยกระดับมาตรการรวมพลังทางสังคมกำหนดระยะห่าง social distancing แต่ถ้าคนในสังคมยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ร่วมมือกันพอ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ 3 คือการบังคับทางสังคม (social sanction) ซึ่งคือการบังคับใช้กฎหมาย ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ.สงครามบางด้าน เช่น การบังคับภาคเอกชนให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือการสู้โรค

ในปัจจุบันนี้เราใช้มาตรการที่ 3 มาได้ครึ่งทาง ตัวเลข ผู้ป่วยที่รายงานกันมาก็สะท้อนว่ากำลังเกิดผล

แต่เม.ย.เป็นเดือนที่ทุกฝ่ายต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักที่สุด

ต้องเลี่ยงการระบาดแบบ super cluster หรือ super spreader ที่เกิดกรณีสนามมวย การชุมนุมศาสนา เพราะมันเสริมการระบาดแบบข้ามชนชั้น (cross sectorial) ลงสู่ชนชั้นล่าง และข้ามภูมิศาสตร์ ที่ต้องแก้ปัญหาจริงจังคือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคนหลายแสนอาจฝ่าฝืนกลับบ้านและจะมีส่วนกระจายเชื้อไปทุกชนชั้นและทุกภูมิภาคอย่างแท้จริง ต้องหาวิธีแก้อย่างเด็ดขาด ที่ต้องระวังเพิ่มเติมคือตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัดในทุกจังหวัด

จังหวัดส่วนใหญ่มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละไม่กี่ราย ขณะนี้มีมาตรการทั้ง 3 ขั้นให้ใช้แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ละเลยควรจะควบคุมได้ แต่มีบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ 4 จังหวัดภาคใต้ อยู่ในสภาพคล้ายกรุงเทพฯ ก่อนตัวเลขจะข้ามหลักร้อยมาเป็นหลักพัน ต้องใช้มาตรการเข้มข้นและบังคับใช้จริงจังจึงจะสำเร็จ

คำสั่งต้องเข้าใจสภาพรูปธรรม มี logistics และผู้ปฏิบัติรองรับให้สำเร็จ เช่น จะจัดระยะห่างบนรถสาธารณะในเมืองและต่างจังหวัด แต่รถไม่พอก็จะปฏิบัติไม่ได้

5.สู้อีกระยะ เราชนะได้แน่

ที่ผ่านมาแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขของเราทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ทันกาล รัฐบาลก็ปรับตัวอย่างถูกต้องที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์เป็นผู้นำทางความคิด ตัวเองหันไปพิจารณาภาพรวมและดำเนินมาตรการต่างๆ รองรับ ถือว่าทำได้ถูกทางไม่สายเกินไป มีโอกาสควบคุมไม่ให้คนติดโรคกันเกือบทั้งเมืองเหมือนอิตาลี อังกฤษ สเปน อเมริกา ซึ่งถือว่าปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการควบคุมโรค

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยผู้นำ มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งประชาชนมีความเป็นปัจเจก มั่นใจตัวเอง ไม่คล้อยตามผู้อื่นง่ายๆ กลุ่มยุโรปใต้รักความสนุกสนาน ส่งผลให้การติดเชื้อยังเพิ่มทะยานตลอดเวลา แม้หลายประเทศจะสั่งปิดเมืองแล้วก็ยังล้มเหลว

สำหรับคนไทยมีพวกวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือพวกนอกขอบ พวกปฏิเสธขัดขืนลองดีสุดโต่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งนับรวมก็คงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คนไทยในช่วงที่ 1 คือ ม.ค.-ก.พ. ได้ปรับพฤติกรรมส่วนตัวด้วยการตื่นตัว ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ พอสมควร ตามมาการใช้หน้ากากอนามัยมากขึ้น กระจายไปสู่ชาวบ้านและต่างจังหวัดชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค.

ในช่วงปัจจุบันจนถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน (26 มี.ค.) คนไทยร่วมมือกับการรณรงค์การสร้างระยะห่างทางสังคมได้ดีพอสมควร ซึ่งโดยการสังเกต (ไม่ใช่การสำรวจหรือวิจัย) ก็น่าจะถือได้ว่าคนไทยได้ร่วมแรงร่วมใจในเรื่องนี้ในระดับราว 70% ขึ้นไป แต่ยังจำเป็นที่จะต้องติดตามดูพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ถ้าดูจากกรณีของประเทศต่างๆ ทั่วโลกการเลือกเส้นทางที่เข้มข้นและบังคับจริงจังดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนี้

1.จากงานวิจัยของนักวิชาการชาวจีน (D.He และ Dushoff 2013-งานสร้างโมเดลการศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 1913 และ Q.Lin และคณะอีก 10 คน 1 เม.ย.2020) ได้ชี้ว่าการร่วมมือทั้งของภาคประชาชนและรัฐบาลทั้งสองปัจจัยช่วยให้การระบาดของโรคโควิด 19 ในจีนสงบ ลงได้

2.ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มของไทยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ 122, 106, 107, 111, 91, 109, 143, 136 สะท้อนว่าความตื่นตัวและมาตรการ “ควบคุมการเคลื่อนย้ายระหว่างเมือง” ของรัฐบาลเริ่มได้ผล เพราะกราฟเหวี่ยงตัวไปด้านข้างคล้ายใกล้จุดสันเขา จะแกว่งตัวเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ในมณฑลหูเป่ยหลังจากการ “ปิดเมือง” อย่างเต็มที่ จำนวนผู้ป่วยทางการยังเพิ่มขึ้นต่อไปอีกประมาณไม่ถึง 2 สัปดาห์เศษ จากนั้นก็ลดลงอย่างฮวบฮาบชัดเจน

3.งานวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน คือ Y.Zhang และผู้ร่วมวิจัยอีก 5 ท่าน ได้สรุปว่า มาตรการที่เข้มข้นของจีนได้ผลในการหยุดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทุกเมือง ได้มีการค้นพบสำคัญ เช่น มาตรการสอบสวน ติดตามผู้ป่วยทุกราย มีความสำคัญมาก ซึ่งจีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ รวมทั้งไทย ทำได้ผลดีมาก และผู้ป่วยซึ่งไม่สำแดงอาการมีอยู่เป็นจำนวนพอสมควร (แต่ศักยภาพการแพร่กระจายเชื้อเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของพวกที่สำแดงอาการ) แต่สะท้อนว่าเรายังมีความจำเป็นต้องมีการสุ่มตรวจหรือติดตามเคสต่างๆ อย่างเต็มที่ต่อไป แม้ในอนาคตที่การระบาดดูสงบลง

ข้อสรุปสุดท้ายที่สำคัญมากคือ ผลจากการควบคุมเข้มข้นของจีนทำให้ตัวเลขการแพร่กระจายตัว R0 ของโควิด-19 จาก 1 คนไปได้กี่คนลดลงอย่างรวดเร็ว จากค่าเฉลี่ยประมาณ 2-3 (คนป่วย 1 คนแพร่เชื้อออกไปได้อีก 2-3 คน ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 1 แสดงว่าโรคกำลังสงบลง) ลดลงเหลือเพียงประมาณ 0.2 ภายในเวลาเพียง 10 วัน ซึ่งถือว่าดีมาก ถ้าคนไทยทำได้เพียงใกล้เคียงกับ 1.0 ซึ่งเป็นค่าที่การระบาดจะคงตัวหรือใกล้กับ 1 ก็ถือว่าโชคดี

เป็นกำลังใจให้เราตื่นตัวป้องกันต่อไปจนกว่าการระบาดในโลกจะสงบลง และต้องป้องกันอย่างที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซูเปอร์ สเปรดเดอร์ขึ้นอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน