งบรับมือโควิด

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

งบรับมือโควิด – การระดมเงินของรัฐบาล ด้วยการตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของทุกกระทรวงร้อยละ 10 มาไว้งบกลางเพื่อใช้รองรับการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ระบาดและ ส่งผลกระทบอย่างแรงต่อเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ได้รับความร่วมมืออย่างดี

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าวิตกเช่นกัน ว่าจะมีผลกระทบ ต่อเนื่องไปอย่างไร

การจัดการเกี่ยวกับเรื่องงบเรื่องเงินและการกระจายความจำเป็นในช่วงที่มีทรัพยากรจำกัด จึงสำคัญมากว่าจะใช้อย่างไรที่จะตอบสนองสถานการณ์ได้ดีที่สุด

ยิ่งขณะนี้ความเดือดร้อนได้แผ่ขยายออกไปทั่วทุกทิศทาง

กรณีที่กระทรวงกลาโหมถอนวาระการขออนุมัติโครงการจัดหาเรือยกพลขึ้นบก 1 ลำ งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาทออกไปจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หลังจากมีแรงกดดันสูงจากสังคม เป็นเรื่องที่คงไม่ส่งผลกระทบต่อฝ่ายพลเรือนมากนัก

เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยทั่วไปและเป็นหลักปฏิบัติของแทบทุกประเทศแล้วว่า การรักษาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้รอดพ้นภัยพิบัติโรคระบาดครั้งนี้สำคัญกว่าภารกิจการทหารใดๆ

ก่อนหน้านี้ การจัดซื้ออาวุธเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากงบประมาณเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารปี 2557 แต่รัฐบาลยืนยันในคำชี้แจงถึงความจำเป็นและเดินหน้าตามแผนที่มีงบผูกพันจนเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำว่าจะทำแบบเดิมไม่ได้อีก

การประชุมครม.นัดพิเศษวันที่ 3 เม.ย. เพื่อขอความเห็นชอบในการออกกฎหมายสำคัญ หรือพระราชกำหนดให้มีการกู้เงิน วงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นวาระสำคัญที่ประชาชนจับตา

หลังจากครม. เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง วงเงิน 18,000 ล้านบาทไปแล้ว

สิ่งที่ประชาชนจะติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดคือรัฐบาลจะจัดสรรการใช้จ่ายนี้ให้เหมาะสมและคุ้มค่าอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน