FootNote:ความขัดแย้งแตกแยกการเมือง ในสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาด

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนออันมาจาก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ไม่ว่าจะ เป็นข้อเสนออันมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นข้อเสนอโดย ตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นข้อเสนอในลักษณะสร้างสรรค์อันมาจาก “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็นข้อเสนอในลักษณะสร้างสรรค์อันมาจาก”อดีต”นายกรัฐมนตรี

นี่เป็นการทอดสะพานในทางการเมืองอันทรงความหมาย

ทรงความหมายเหมือนข้อเสนออันมาจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทรงความหมายเหมือนข้อเสนออันมาจาก นายกรณ์ จาติกวณิช

สมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเปิดใจน้อมรับฟังอย่างมีโยนิโสมนสิการ

แล้วใช้กระบวนการที่เหมาะสมในการร่วมคิด ร่วมทำ

สภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางเฉยและไม่แสดงท่าทีใดในการตอบรับหรือปฏิเสธ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ว่า ณ ตอนนี้ ไม่ว่าในห้วงหลังเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะในความเป็นจริงในทางการปฏิบัติอาจสามารถทำได้ในบางเรื่อง อาจไม่สามารถทำได้ในบางเรื่อง

แต่การปล่อยให้ “คนอื่น” ออกมาแสดงท่าที “น่าสงสัย”

ไม่ว่าจะเป็นท่าทีในแบบกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีบางคน ไม่ว่าจะเป็นท่าทีในแบบโฆษกจากพรรคพลังประชารัฐ ที่สรุปว่าการ ออกมาเหล่านั้นเป็นการฉวยโอกาสเล่นการเมือง

หรืออาศัยท่าทีของบางคนไปประชดประเทียดเสียดสีบางคน ในพรรคเดียวกัน ตรงนี้ต่างหากที่อาจจะกลายเป็นปม กลายเป็นประเด็นในทางการเมือง

สะท้อนการปัดปฏิเสธและไม่รับฟังความเห็น”ต่าง”

สังคมไทยอยู่ในความแตกต่างทางความคิดมาอย่างยาวนานนับแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมาก่อน รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คำถามก็คือ ความขัดแย้ง แตกแยกอย่างนั้นก่อให้เกิดผลดี ผลเสียอย่างไรกับบ้านเมือง

ก็เห็นๆกันอย่างที่ดำรงอยู่แม้จะผ่านเดือนมีนาคม 2562 แล้ว

ยิ่งเมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส ยิ่งทำให้ความขัดแย้งความแตกแยกฉายชัดอย่างมิอาจเก็บงำเอาไว้ได้

สภาพการณ์อย่างนี้ สถานการณ์อย่างนี้ ยิ่งไม่เป็นประโยชน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน