ร่วมเสียสละ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ร่วมเสียสละ – เสียงเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการร้องหาจิตใจร่วมดูแลสังคมของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 244 คน ที่มาด้วยอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ที่ยกเว้นไป 6 คนไม่เต็ม 250 คน เพราะวุฒิที่เป็นโดยตำแหน่ง อันได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ และผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น

ได้แสดงเจตจำนงคืนค่าผลประโยชน์และค่าตอบแทนในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้มาทั้งหมด ให้กระทรวงการคลังไปแล้วก่อนหน้านี้ หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารับเงินเดือนสองทางพร้อมกัน

ช่วงประเทศชาติวิกฤตโรคระบาด ประชาชนจึงอยากเห็นสปิริตของสมาชิกวุฒิสภาที่เหลือบ้าง

วุฒิสภานั้น รายได้ของประธานวุฒิสภา เดือนละ 119,920 บาท รองประธานวุฒิสภา เดือนละ 115,740 บาท และสมาชิกวุฒิสภา เดือนละ 113,560 บาท ซึ่งรายรับทั้งหมดนี้ รวมเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิเสนอให้แต่งตั้งผู้ช่วยประจำตัว ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท ผู้ชำนาญการ 2 คน อัตราค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน และผู้ช่วยดำเนินงาน 5 คน อัตราค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน

รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาล สวัสดิการ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางภายในประเทศ และเบี้ยเลี้ยงในการ เดินทางไปต่างประเทศด้วย ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินค่าใช้จ่ายในปริมาณที่สูงพอสมควร

เป็นรายจ่ายที่เป็นภาระงบประมาณจากภาษีของประชาชนไม่น้อย

จริงอยู่การทำงานทุกประเภท ย่อมสมควรได้รับค่าตอบแทน แต่ต้องไม่ลืมว่าที่มาของสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ แทบจะไม่ปรากฏว่ายึดโยงกับประชาชน เพราะส่วนใหญ่มาจากข้าราชการเกษียณ อดีตองค์กรที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ

โดยพื้นฐานและฐานะทางครอบครัว ก็ไม่ใช่จะขาดแคลนข้นแค้น ขณะที่บางรายอุดมด้วยทรัพย์สินศฤงคารมหาศาล ดังที่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ในภาวะที่ประเทศชาติประสบกับความยากลำบาก ประชาชนยากแค้นแสนสาหัส ขาดรายได้ ตกงานกว่าครึ่งค่อนประเทศ จึงอยากให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้แสดงความเสียสละ ไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน อย่างน้อยก็ระยะเวลาหนึ่ง

ถ้าหากพร้อมใจกันเสียสละ แสดงสปิริต ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึกไม่ทอดทิ้งกันในยามยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน