10 ปี-10 เมษาฯ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ช่วงที่สังคมต้องรับศึกโควิด-19 แทบจะไม่มีเวลานึกถึงประเด็นอื่น คงทำให้วาระครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษาฯ 53 ไม่เป็นที่รำลึกมากนัก

แต่สำหรับครอบครัวของผู้สูญเสียคงไม่เป็นเช่นนั้น

บรรดาผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักระบุว่า แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว ความเสียใจยังคงฝังลึกอยู่ และความช้ำใจจากวาทกรรมให้ร้ายว่าเป็นญาติของคนเผาบ้านเผาเมืองยังคงไม่สลายไป

10 เมษาฯ เป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิต 25 ราย ตามมาด้วยการใส่ร้าย สร้างความเกลียดชัง และทำให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2553

แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบใดๆ จากการใช้อำนาจรัฐในครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ 10 เมษาฯ 53 เกี่ยวพันกับคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. หลังจากเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมในปีนั้น ด้วยข้อเรียกร้องให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง

การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ในปฏิบัติการที่ใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” อยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจุดปะทะหลักอยู่ที่ถนนดินสอและแยกคอกวัว

พลเรือนเสียชีวิต 20 ราย และเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 5 ราย แต่กลับไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือใคร

แม้แต่เหยื่อที่เป็นช่างภาพของรอยเตอร์ สำนักข่าวชั้นนำของโลก แม้ระบุว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร ก็ไม่ปรากฏว่าใครต้องรับผิดชอบต่อการตายของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ

เช่นเดียวกับนายทหารที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ กลับหาคนร้ายไม่ได้

ผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ 10 เมษาฯ ที่ระบุกันว่าเป็นชายชุดดำ ผ่านมา 10 ปีแล้วคนในสังคมยังไม่รู้ว่าเป็นใคร นอกจากการกล่าวหากันลอยๆ

10 ปีที่ผ่านมากลับเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร การเขียนรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาที่ประชาชนถูกยึดอำนาจ พรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอลง และวาทกรรมให้ร้ายที่ยังไม่คลี่คลาย เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ให้ชัดเจน

ญาติที่เฝ้ารอคำตอบมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ก็ยังคงรอคำตอบอยู่เช่นเดิม โดยไม่รู้ว่าจะได้รับเมื่อใด

ความเสียใจและช้ำใจคงจะดำเนินต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน