6 วิธีช่วยเด็กเรียนรู้แก้วิตกกังวลโควิด : สดจากเยาวชน

6 วิธีช่วยเด็กเรียนรู้แก้วิตกกังวลโควิด – การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เด็กๆ ในทุกช่วงวัยต่างกำลังตกอยู่ในสภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ความเครียด และความไม่สบายใจ

แม้เด็กแต่ละคนจะมีวิธีจัดการอารมณ์ของตนเองที่แตกต่างกัน แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปย่อมทำให้เด็กๆ มีกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ กับเพื่อนๆ ลดลง ดังนั้นพวกเขาต้องได้รับความรักและความเอาใจใส่ในช่วงเวลานี้มากกว่าที่เคย

องค์การยูนิเซฟ โดย แมนดี ริช พูดคุยกับดร.ลิซ่า ดามูร์ นักจิตวิทยาวัยรุ่น นักเขียนอันดับหนังสือขายดี และคอลัมนิสต์ชื่อดังหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ แนะ 6 วิธีช่วยเด็กๆเรียนรู้และจัดการอารมณ์และความรู้สึกใน ช่วงนี้

1. สร้างความมั่นใจให้ลูกอย่างไม่ตื่นตระหนก ดร.ดามูร์ให้คำแนะนำว่าพ่อแม่ควรพูดคุยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 กับลูกๆ ให้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างสม่ำเสมอ และให้พวกเขา รู้ถึงบทบาทสำคัญในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค หมั่นสำรวจอาการ และแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ ชี้แจงว่าอาการป่วยโรคโควิด-19 โดยทั่วไปไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น และหลายๆ อาการรักษาให้หายได้

2. ทำกิจวัตรประจำวันอย่างเคร่งครัด พ่อแม่ควรทำ ตารางกิจวัตรประจำวันขึ้นมา โดยมีทั้งเวลาพักผ่อน ติดต่อเพื่อนๆ ทางโทรศัพท์ อยู่ห่างจากอุปกรณ์เทคโนโลยี ช่วยงานบ้าน จะทำให้เด็กๆรู้สึกสบายใจและเห็นภาพในแต่ละวันของตัวเอง

3. ช่วยลูกให้เข้าใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น การปิดโรงเรียนทำให้กิจกรรมสันทนาการ ในโรงเรียนต้องถูกยกเลิกไปด้วย เช่น ดนตรี กีฬา หรือกิจกรรมอื่นๆ ผู้ปกครองต้องปลอบโยนและคอยสนับสนุนสร้างสิ่งรอบตัวให้เหมือนเป็นปกติ

4. สอบถามข้อมูลที่เด็กๆ รับรู้มา ช่วงการระบาดทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลเท็จและข่าวลือจำนวนมาก ลองถามลูกว่าได้รับข้อมูลอะไรมาบ้างและลองปรับแก้ความรู้กันในตอนนั้นๆ ในบางคำถามที่พ่อแม่ยังตอบลูกไม่ได้ ให้ใช้โอกาสนั้นหาคำตอบด้วยกันโดยการค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้

5. รับฟังปัญหาเมื่อลูกพร้อมจะเล่า เมื่อต้องจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่ยากลำบาก ให้เข้าไปคุยกับลูกโดยรักษาความพอดี ลองหากิจกรรมเล่นเกมกันในครอบครัวทุกๆ 2-3 วันหรือทำอาหารร่วมกัน

6. เช็กพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อพ่อแม่ ต่างมีความวิตกกังวล ลูกจะรับเอาอารมณ์ความรู้สึกของพ่อแม่มา อยากให้พ่อแม่จัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นและอย่าส่งต่อความกลัวไปให้ลูก เด็กๆ จะพึ่งพาพ่อแม่ในแง่การสร้างความรู้สึกที่มั่นคงและปลอดภัย เปรียบเสมือนว่าลูกคือผู้โดยสารที่มีพ่อแม่เป็นคนขับและแม้ว่าพ่อแม่จะรู้สึกกังวลหรือกลัว ต้องพยายามเก็บมันไว้ และอย่าให้ผู้โดยสารรู้สึกไม่ปลอดภัยตามไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน