คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ความปรารถนาดี ความห่วงใยของผู้บริหารประเทศและผู้มีชื่อเสียงบางท่าน ต่อการแสดงออกในสาธารณะของนักร้องหญิงบางราย เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

เข้าใจได้ว่าเกิดขึ้นจากความปรารถนาดี ที่อยากจะเห็นสังคมไทยอยู่ในความสงบเรียบร้อย อยากจะเห็นสุภาพสตรีไทยมีคุณสมบัติของความเป็นกุลสตรี ชนิดที่เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้

แต่ความปรารถนาดีที่อยู่บนเส้นแบ่งอัน บางสลัว และนำมาซึ่งผลต่อเนื่องอันไม่สมควร อาทิ การไปควบคุมการแสดงของนักร้องถึง หน้าเวทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ทั้งหลาย

ในอีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยา และความเห็นในด้านตรงข้ามเสนอขึ้นมาเทียบเคียง

ประการหนึ่ง ในแง่ศิลปะและวัฒนธรรม มีผู้รู้หลายท่านแสดงข้อมูลและความเห็นเอาไว้ว่า เนื้อหาและการแสดงออกถึงเรื่อง “เพศ” นั้นมีอยู่ในวัฒนธรรมของทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทยแต่สมัยโบราณกาล

การปฏิเสธ การแสดงความไม่ยอมรับศิลปะหรือการแสดงออกดังกล่าว เป็นการแสดงถึงความไม่เข้าใจในรากเหง้าที่มาของตนเอง เป็นการ ปรุงแต่งด้วยจริตอันฉาบฉวย อันเป็นค่านิยมที่เพิ่งสร้างขึ้นในสังคมไทยในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

การศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนจะแสดงออกถึงทัศนะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อศิลปะต่างหาก

ที่จะเป็นการแสดงความเคารพ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการศึกษาและพัฒนาวัฒนธรรมให้งอกงามต่อไป

ประการหนึ่ง หากแสดงความรังเกียจอย่างออกหน้าออกตาต่อการแสดงออกทางศิลปะที่มีนัยยะทางเพศ ก็จะต้องแสดงความรังเกียจการค้าประเวณีที่กลาดเกลื่อนอยู่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะในทางเปิดเผยหรือในทาง ปิดๆ บังๆ

ถ้าแสดงความรังเกียจถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ไปกดดันไปควบคุมการแสดงออกทางศิลปะแล้ว ก็จะต้องตามมาด้วยการกวาดล้างการค้าประเวณีให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย

ไม่เช่นนั้นแล้วการแสดงออกที่ว่าก็จะเสมอเป็นเพียงอาการ “หน้าไหว้หลังหลอก” เช่นเดียวกันกับเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เป็นอาการ “สองมาตรฐาน” ที่แสดงออกในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน